เรื่อง น้อง“เหมียวเหมียว” กับการศัลยกรรมริมฝีปากใหม่

7597 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่อง น้อง“เหมียวเหมียว” กับการศัลยกรรมริมฝีปากใหม่

น้อง “เหมียวเหมียว” แมวเพศเมีย พันธุ์ Domestic short hair อายุ 1 ปี เจ้าของแจ้งว่าน้องแมวได้หายไปจากบ้าน 2-3 วัน ภายหลังจากน้องแมวกลับมาที่บ้าน เจ้าของพบว่าน้องแมวแผลที่ปากด้านล่าง และมีบาดแผลทะลุจากบริเวณใต้คางด้านขวาเข้าสู่ช่องปาก โดยตัวเจ้าของเองก็ไม่ทราบว่าน้องแมวไปโดนอะไรมา

                จากการที่ผมได้ทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น พบว่า กรามล่างบริเวณด้านหน้าของน้องแมวหักทั้งสองข้าง (Rostral mandibular fracture) พบบาดแผลทะลุเป็นโพรงจากบริเวณใต้คางด้านขวาทะลุเข้าสู่ช่องปาก อีกทั้งพื้นที่รอบบริเวณบาดแผลดังกล่าวยังพบคราบเลือด คราบหนอง และเศษเนื้อตายจำนวนมากร่วมกับกลิ่นเนื้อเยื่อที่เหม็นเน่าอย่างรุนแรง เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเป็นบาดแผลจากการต่อสู่กับสุนัขใหญ่ในช่วงที่แมว หายไปจากบ้านก็เป็นได้ โดยบาดแผลดังกล่าวน่าจะเกิดมาหลายวันแล้วก่อนจะมาถึงโรงพยาบาล จากการฉายภาพรังสีเอ็กซ์เรย์ (x-ray) เพิ่มเติมพบว่าตำแหน่งของกระดูกที่หัก มีเพียงบริเวณกระดูกกรามล่างด้านหน้าที่หักเพียงเท่านั้น



                จากการพิจารณาสภาพของเนื้อเยื่อโดยรอบและเนื้อของกระดูกกรามที่หักออกจากกัน แล้ว พบว่าเนื้อเยื่อรอบบริเวณดังกล่าวมีความสกปรกและมีการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างรุนแรง ผมจึงลงความเห็นว่าไม่สามารถจะซ่อมแซมกระดูกกรามให้กลับมาเป็นปกติได้ อีกทั้งหากทำการตัดแต่งเย็บแผลที่ปากในตอนนี้ก็มีโอกาสที่แผลผ่าตัดจะเชื่อม กันไม่ดีและแผลแตกในเวลาอันรวดเร็วได้ ผมจึงได้ตัดสินใจทำการรักษาแผลเปิดร่วมกับการตัดแต่งเนื้อเยื่อที่ตายออก ก่อนเพื่อเป็นการทำความสะอาดเนื้อเยื่อรอบบริเวณดังกล่าวร่วมกับการให้ยา ปฏิชีวนะ ยาลดปวดและยาลดอักเสบ โดยขั้นตอนดังกล่าวใช้ระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์โดยระหว่างนี้จะคอยป้อนอาหารเหลวด้วย syringe และล้างปากให้แมวทุกครั้งหลังป้อนอาหาร จากนั้นผมจึงได้ทำการผ่าตัดโดยการตัดเลาะกรามที่หักทิ้งไป ใช้กรรไกรตัดกระดูกทำการตัดเล็มกระดูกที่ยื่นแหลมออกมาให้เรียบเสมอกัน และทำการศัลยกรรมริมฝีปากใหม่ (Cheiloplasty) โดยใช้ไหมละลายในการเย็บริมฝีปากด้านใน และใช้ไหมที่ไม่ละลายในการเย็บผิวหนังด้านนอก ภายหลังจากการผ่าตัดวันแรกพบว่าน้องแมวมีอาการเจ็บปากอย่างมากจึงต้องให้ยา ลดปวดทุกๆ 8 ชั่วโมง ร่วมกับยาลดอักเสบ และยาปฎิชีวนะ นอกจากนี้ยังต้องคอยทำความสะอาดแผลให้ปากของน้องแมวทุกวันทั้งเช้าและเย็น ภายหลังจากการผ่าตัด 3 วัน แผลผ่าเริ่มมีการอักเสบลดลง แมวเริ่มไม่แสดงอาการปวดแล้ว และเริ่มกินอาหารได้เองจึงได้แนะนำเรื่องการป้อนอาหาร วิธีการทำแผล และวิธีการดูแลความสะอาดช่องปากน้องแมวให้กับเจ้าของ เพื่อกลับไปดูแลที่บ้านและจะนัดเข้ามาเพื่อทำการตัดไหมในเวลาต่อไป


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้