เจ้าของสังเกตว่าแมวมีอาการท้องกางขึ้น กินน้อยลง

346 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจ้าของสังเกตว่าแมวมีอาการท้องกางขึ้น กินน้อยลง

…… เจ้าของสังเกตว่าแมวมีอาการท้องกางขึ้น กินน้อยลง ผอมลง เป็นมาประมาณ 1 สัปดาห์ และเริ่มไม่มีแรงลุกไปเข้ากระบะทรายไม่ไหว เจ้าของสังสัยว่าแมวตัวเองจะเป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (FIP) หรือเปล่า เพราะเคยมีประสบการณ์ก่อนหน้าที่แมวเสียชีวิตด้วยโรคนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว …………………………………



วิธีการตรวจวินิจฉัย

           วิธีการวินิจฉัยโรค FIP ต้องอาศัยการตรวจร่างกายและผลตรวจทางปฏิบัติการหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นการตรวจร่างกายก็พบว่าแมวมีอาการท้องโตขยายใหญ่และมีของเหลวภายในช่องท้อง จึงได้ทำการตรวจเลือดเพื่อดูค่าเม็ดเลือดทั่วไป การทำงานของตับไต รวมถึงการหาค่าสัดส่วนโปรตีนอัลบูมินต่อโปรตีนโกลบูลิน นอกจากนี้ยังตรวจด้วยชุดตรวจโรคเพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อไวรัสโคโรนา โดยจะใช้ชุดนี้เป็นการตรวจเบื้องต้นหรือ screening test ในรายที่สงสัยโรค FIP  กรณีที่แมวมีน้ำในช่องท้องก็จะจัดอยู่ในรูปแบบมีอาการแบบเปียก (effusive form) สามารถวินิจฉัยแบบตรงไปตรงมาได้โดยการใช้ตัวอย่างจากของเหลวในช่องท้องส่งตรวจ ซึ่งสามารถส่งตรวจได้ทั้งการวิเคราะห์ของเหลว (Fluid Analysis) การตรวจทางเซลล์วิทยา (Cytology) และตรวจหาสารแอนติเจนของเชื้อไวรัสโคโรนา (detection of FCoV antigen)

 

ผลการวินิจฉัย

         โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (FIP) แบบเปียก (Effusive form)

               

ผลการรักษา(ถ้ามี)

……สัตวแพทย์ได้ทำการรักษาโดยการเจาะเพื่อระบายของเหลวออกจากช่องท้องในวันแรกได้ของเหลวประมาณ 800 ซีซี และเริ่มทำการรักษาทางยา หลังจากรักษาไปได้ประมาณ 4-5 วัน อาการของน้องเห็ดๆเริ่มดีขึ้น กินอาหารเองได้เยอะขึ้น มีแรงมากขึ้นเริ่มเล่นเหมือนแต่ก่อน ท้องเริ่มยุบบวมและเริ่มกลับสู่ปกติ หลังจากนั้นต่อมาอีก 2 สัปดาห์น้องเห็ดๆกลับมาตรวจเพื่อติดตามอาการ พบว่าอาการดีขึ้นมากกลับมาร่าเริงเหมือนแต่ก่อน ไม่มีอาการซึมอีกแล้ว และกินอาหารเยอะมาก พบว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 0.5 kg ภายใน 2 สัปดาห์ และไม่พบภาวะท้องกางมีของเหลวในช่องท้องอีกเลย ปัจจุบันน้องเห็ดๆยังอยู่ในระหว่างการรักษาต่อเนื่อง และยังไม่พบอาการป่วยกลับมาเป็นซ้ำในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ……………………………………………………………………………….

 
Tip หรือข้อแนะนำ จากคุณหมอ

 

… FIP หรือโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว เป็นโรคที่พบในแมวได้ทุกเพศ ทุกวัย ส่วนใหญ่มักจะพบในแมวอายุน้อยกว่า 2 ปี  กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ แมวตัวผู้ แมวพันธุ์แท้บางสายพันธุ์ เช่น Burman Himalayan Ragdoll Bengel และ Rex เป็นต้น มักพบการเกิดโรคนี้ในแมวที่มีการเลี้ยงอยู่ร่วมกันหลายๆตัวภายในบ้านเดียวกัน (multi-cat households)  ร่วมกับการมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด (recent history of stress) เช่น การเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ย้ายบ้านหรือย้ายประเทศ หลังการผ่าตัดทำหมัน หลังกลับจากไปเที่ยวหรือไปฝากไว้ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน หรือมีการนำแมวตัวใหม่เข้ามาในบ้าน เป็นต้น

การหลีกเลี่ยงและป้องกันโรค FIP ทำได้โดยการเลือกแมวจากแหล่งที่ปลอดเชื้อโคโรน่าไวรัส นอกจากนี้เจ้าของควรเลี้ยงแมวในระบบปิดเท่านั้นเพื่อลดการสัมผัสและนำเชื้อโรคจากแหล่งภายนอกบ้านเข้ามาในบ้าน  หากเลี้ยงแมวอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากต้องมีการจัดสรรห้องแต่ละห้องไม่ให้มีจำนวนแมวอยู่หนาแน่นจนเกินไป ปัจจุบันมีวัคซีนแบบหยอดจมูกสำหรับป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว แต่ยังคงมีการถกเถียงกันในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้  และวัคซีนไม่ได้จัดอยู่ในหมวดหมู่ของวัคซีนหลักจึงไม่ได้มีการให้วัคซีนชนิดนี้กับลูกแมวทุกตัว  แนะนำว่าก่อนทำวัคซีนชนิดนี้ควรมีการตรวจด้วยชุดตรวจโรคเพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อไวรัสโคโรนาก่อน สัตวแพทย์จะพิจารณาให้วัคซีนชนิดนี้ได้ในรายที่ให้ผลเป็นลบ (negative) และสามารถเริ่มทำวัคซีนชนิดนี้ได้ในลูกแมวอายุ 16 สัปดาห์ขึ้นไป


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้