16430 จำนวนผู้เข้าชม |
1. โรคหัวบาตร หรือ ภาวะโพรงน้ำคั่งในสมอง (Hydrocephalus)
โรคหัวบาตร หรือ ภาวะโพรงน้ำคั่งในสมอง เป็นความผิดปกติจากการที่มีน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid : CSF) สะสมมากผิดปกติ จนมีการกดทับเนื้อสมองและขัดขวางการเจริญเติบโตของเนื้อสมองได้
ช่วงแรกเกิดมักจะยังไม่ค่อยแสดงความผิดปกติทางระบบประสาทใดๆให้เห็น แต่อาการผิดปกติมักจะเริ่มแสดงออกเมื่อสัตว์เลี้ยงโตขึ้น โดยส่วนใหญ่มักเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุยังไม่เกิน 6 เดือน เช่น
กระโหลกศีรษะโตผิดรูป มีโพรงที่กระโหลกศีรษะ ตาเหล่ เรียนรู้ช้า เดินเซหรือวนข้างในข้างหนึ่ง หรือบางรายอีกอาการชักร่วมด้วย เป็นต้น
อาการดังกล่าวสามารถพบได้ทั้งในสุนัขและแมว โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาว่า ปอมเมอเรเนียน ชิสุ ยอร์คเชียร์เทอเรีย เป็นต้น
2. โรคลมชักแต่กำเนิด (Primary Epilepsy)
ภาวะโรคลมชักแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทในระดับพันธุกรรมของสัตว์เลี้ยง ที่จะทำให้เซลล์ประสาทและระบบการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองเกิดความผิดปกติและเกิดเป็นจุดลมชักขึ้น
ความผิดปกติดังกล่าวสามารถพบได้ในสุนัขมากกว่าในแมว และมีโอกาสพบได้ในสัตว์เพศผู้มากกว่าเพศเมีย โดยสัตว์เลี้ยงสามารถแสดงอาการชักครั้งแรกเมื่ออายุตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 6 ปี ทั้งนี้สัตว์เลี้ยงที่มีภาวะชักควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อแยกหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะชักจากสาเหตุอื่นๆก่อน
สายพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงต่อการมีภาวะลมชักแต่กำเนิด เช่น ปั๊ก บีเกิ้ล เฟรนช์บูลด๊อก บ็อกเซอร์ คอลลี่ แจ๊กรัสเซล เยอรมันเชพเพิร์ด คอร์กี้ ไซบีเรียนฮัสกี้ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ชิวาว่า ปอมเมอเรเนียน เป็นต้น
3. ภาวะสมองน้อยเจริญเติบโตผิดปกติ (Cerebellar hypoplasia)
สมองน้อย (Cerebellar) เป็นสมองส่วนที่ใช้ปรับสมดุลการทำงานร่วมกันระหว่างมัดกล้ามเนื้อ สมดุลร่างกายทั้งแนวกลางตัวและร่างกายซีกซ้ายและขวา รวมถึงการคำนวณกะระยะและการออกแรง เป็นต้น
หากเกิดการเจริญเติบโตของสมองน้อยผิดปกติ จะทำให้สัตว์เลี้ยงแสดงอาการสั่นโดยเฉพาะเวลาที่สัตว์เลี้ยงตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง(intentional tremor) เช่น มีอาการสั่นเวลาต้องการเดินไปมา มีอาการหัวสั่นคล้ายไก่จิกเวลากินอาหาร เป็นต้น
สัตว์เลี้ยงมักแสดงอาการเดินตัวสั่น กางขา เดินเซ ล้มกลิ้ง และมีการกะระยะก้าวขาไม่สัมพันธ์กัน ปัญหาดังกล่าวสามารถพบได้ทั้งในสุนัขและแมว โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาทางพันธุกรรมที่ทำให้สมองน้อยมีการเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ
สุนัขที่เป็นสายพันธุ์เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดังกล่าว เช่น บอสตันเทอร์เรีย เชาเชา บูลเทอร์เรีย เป็นต้น ส่วนกรณีในแมวบางครั้งพบว่าเกิดจากการที่แม่แมวมีการติดเชื้อไวรัสหัดแมว (Feline Panleukopenia virus : FPV) ระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้ลูกแมวที่อยู่ในครรภ์ได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวผ่านทางมดลูกและเชื้อไวรัสเข้าสู่สมอง ทำให้สมองเกิดการพัฒนาผิดปกติได้
4. กระดูกสันหลังมีครึ่งอัน (Hemivertebrae)
เป็นความผิดปกติของการพัฒนากระดูกสันหลังแต่กำเนิด สาเหตุเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่บกพร่อง มักพบปัญหาดังกล่าวในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น ได้แก่
เฟรนช์บูลด๊อก บอสตันเทอร์เรีย ปั๊ก เป็นต้น โดยจะมีการเชื่อมกันของชิ้นกระดูกสันหลังผิดปกติ วินิจฉัยได้จากภาพเอ็กซเรย์โดยกระดูกสันหลังบริเวณดังกล่าวจะมีรูปแบบคล้ายปีกผีเสื้อ
ทั้งนี้สุนัขที่มีความผิดปกติดังกล่าวอาจไม่แสดงความผิดปกติทางระบบประสาทใดๆเลย จนไปถึงแสดงอาการขาอ่อนแรงและเป็นอัมพาตได้
ทั้งนี้โรคทางระบบประสาทแต่กำเนิดในสัตว์เลี้ยงยังมีอีกมากมาย หากพบว่าสุนัขหรือแมวที่เราเลี้ยงไว้มีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้น ควรพาไปตรวจวินิจฉัยกับสัตวแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาเพื่อแก้ไขอย่างทันท่วงที
เขียนและเรียบเรียงโดย
น.สพ.ตะวัน สันธนะจิตร
(สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท สาขาพระราม9)