113844 จำนวนผู้เข้าชม |
สุนัขชื่อมะยม พันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ อายุ 4 ปี เพศผู้ มาด้วยอาการมีเลือดกำเดาไหลออกมาเยอะมากตลอดทั้งคืน น้องมะยมมีอาการอ่อนแรง และไม่ยอมกินอาหารเป็นมา 2-3 วัน นอกจากนี้น้องมะยมมีเห็บหมัดค่อนข้างเยอะ น้องมะยมเป็นสุนัขที่อาศัยอยู่ในวัดร่วมกับสุนัขตัวอื่น ๆ อีกหลายตัว ทำให้การดูแล และป้องกันเห็บหมัดอาจจะไม่ค่อยทั่วถึง ซึ่งผู้ดูแลเล่าว่าน้องมะยมไม่ได้ป้องกันเรื่องเห็บหมัดมาหลายเดือนแล้ว
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
จากการตรวจร่างกายพบว่าน้องมะยมพบว่ามีอาการซึม อ่อนแรงลง เหงือกสีค่อนข้างซีด และมีเลือดกำเดาไหลซึมออกจากจมูกตลอดเวลา มะยมจะเป็นสุนัขที่ร่างกายผ่ายผอม และบนร่างกายของน้องมะยมมีเห็บเยอะ หลังจากตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว คุณหมอได้ทำการตรวจเลือดเพิ่มเติม พบว่าน้องมะยมมีภาวะเลือดจาง เกล็ดเลือดต่ำ ต่าการกรองของไตสูงกว่าปกติ ค่าเอ็นไซม์ตับสูง ที่สำคัญที่สุดพบว่าน้องมะยมมีการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด ชนิด E.canis ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มะยมมีอาการซึม และมีเลือดกำเดาไหล เนื่องจาก เชื้อพยาธิเม็ดเลือดโน้มนำทำให้หลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย และภาวะเกร็ดเลือดต่ำยิ่งทำให้เลือดหยุดไหลได้ยาก
การรักษา
การรักษาสุนัขที่มีปัญหาพยาธิเม็ดเลือด โดยมีความผิดปกติของการทำงานของไตและตับร่วมด้วย สัตวแพทย์พิจารณาให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือด มีปฐมพยาบาลห้ามเลือดโดยการประคบเย็นบริเวณจมูก ให้ยาห้ามเลือดชั่วคราวเข้าเส้นเลือด และให้ยารักษาพยาธิเม็ดเลือด ยาบำรุงเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการกำจัดพาหะนำโรคพยาธิเม็ดเลือด สัตวแพทย์พิจารณาจ่ายยากำจัดเห็บหมัดชนิดหยดหลังให้มะยม พร้อมกับการใช้สเปรย์พ่นตามตัวเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อควบคุมเห็บหมัดบนร่างกายขณะที่เข้ารับการรักษาในหน่วยสัตว์ป่วยในที่โรงพยาบาลสัตว์
หลังจากให้การรักษาไปอาการของน้องมะยมก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ กินอาหารได้ปกติ ไม่มีเลือดไหลกำเดาไหลแล้ว ซึ่งทำการตรวจเลือดซ้ำ ผลเลือดก็ดีขึ้นตามลำดับด้วย มะยมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 5 วัน ก็สามารถกลับไปดูแลป้อนยาต่อที่วัด แต่น้องมะยังคงต้องมีการให้ยารักษาพยาธิเม็ดเลือด และ ตรวจเลือดต่อเนื่องจนกว่าจะปกติ โดยใช้เวลารักษา 3-4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังคงต้องกำจัดเห็บหมัดเดือนละ 1 ครั้ง เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
โรคพยาธิเม็ดเลือดชนิด E.canis นั้น จะมีการติดต่อโดยผ่านเห็บ วิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การควบคุมจำนวนเห็บหมัดให้มีอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง ซึ่งเห็บทุกระยะสามารถนำโรคได้ ดังนั้นการกำจัดเห็บหมัดจะต้องทำอย่างต่อเนื่องจนไม่พบระยะใดระยะหนึ่งเป็นเวลานานๆ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการติดโรคได้ด้วย ซึ่งแม้ว่าสุนัขจะอยู่ภายในบ้านก็อาจจะไม่ปลอดภัยจากเห็บ เพราะบางครั้งถ้าบริเวณรอบ ๆ บ้านมีสุนัขจรจัดมาอาศัยอยู่หน้าบ้าน ก็อาจจะนำเห็บมาสู่สุนัขของเราได้ ยิ่งถ้าเป็นสุนัขที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก การป้องกันเห็บหมัด จะทำที่สุนัขตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ ควรทำร่วมกัน เพราะมิฉะนั้น การป้องกันหรือกำจัดเห็บหมัดจะไม่ได้ผล ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดควรจะป้องกันเห็บที่สุนัขของเราจะดีที่สุด ซึ่งการป้องกันจะทำได้ใช้ยาฉีด หรือยาหยอดเห็บก็ได้ นอกจากนี้ควรนำสุนัขตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ 3-6เดือน โดยต้องแจ้งสัตวแพทย์ให้เจาะเลือดตรวจพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งถ้าสามารถตรวจพบได้แต่เนิ่น ๆ ก็อาจจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดจาก โรคได้
เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ.สายพิณ อยู่ต้น
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา