11099 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติ
สุนัขพันธุ์ไซบิเรียนฮัสกี้ อายุ 2 ปี เจ้าของพามาที่ คลินิกผิวหนังและภูมิแพ้ จากปัญหาผิวหนังอักเสบ ขนร่วง เป็นสีดำ โดยเฉพาะบริเวณ ขาทั้ง 4 ข้าง ตัวมีกลิ่นเหม็น สุนัขเคยรักษาจากที่คลินิกอื่นมาแล้ว แต่อาการกลับมาเป็นๆหายๆ และหมดค่าใช้จ่ายในการรักษาก่อนหน้านี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากสุนัขตัวโตประมาณ 20 กิโลกรัม ซึ่งต้องใช้ยาปริมาณมาก
การตรวจร่างกาย
สุนัขมีอาการผิวหนังอักเสบ ขนร่วงที่บริเวณลำตัว และขาทั้ง 4 ข้าง ตัวมีกลิ่นเหม็น เวลาจับตามตัว จะมีเลือดและน้ำเหลืองออกมา
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตรวจพบตัวไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ และตรวจพบการติดเชื้อแทรกของแบคทีเรียที่ผิวหนัง
การรักษา
สัตวแพทย์ให้ยาต้านแบคทีเรียผิวหนังแบบฉีด 1 ครั้ง ต่อ 2 สัปดาห์ และให้ยารักษาโรคขี้เรื้อนเปียก(Demodicosis ดีโมดิโคซิส) แบบเม็ดป้อน 1 เม็ดต่อ 3 เดือน เพื่อฆ่าตัวไรขี้เรื้อนที่ผิวหนังอย่างต่อเนื่อง
ผลการรักษา
สุนัขอาการดีขึ้น ผิวหนังอักเสบยุบลง อาการคันลดลง ขนเริ่มขึ้นกลับมาที่บริเวณหลัง และแนะนำให้มาติดตามการตรวจรักษากับสัตวแพทย์คลินิกผิวหนัง อย่างต่อเนื่อง
คลินิกผิวหนัง อยากบอกดังดังให้ฟังถ้วนหน้า
โรคไรขี้เรื้อนที่ผิวหนังเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมและความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกายของสุนัข โดยสามารถแบ่งช่วงอายุที่พบไรขี้เรื้อนได้เป็น 2 ช่วงอายุ คือไรขี้เรื้อนที่พบในวัยเด็ก และไรขี้เรื้อนที่พบในสุนัขโต ซึ่งในแต่ละช่วงอายุจะแบ่งตามความรุนแรงและตำแหน่งที่พบ ได้แก่ ไรขี้เรื้อนแบบเฉพาะที่ มักพบวิการที่ผิวหนังเพียงไม่กี่ตำแหน่งขนาดเล็ก และ ไรขี้เรื้อนแบบทั่วร่างกาย โดยจะพบวิการผิวหนังมากกว่า 5 ตำแหน่งเป็นต้นไป โดยบริเวณที่จะพบได้แก่ เท้าทั้งสี่ และใบหน้า ความสำคัญของช่วงอายุและความรุนแรงของไรขี้เรื้อน จะมีผลต่อการพยากรณ์โรค ซึ่งในกรณีที่พบไรขี้เรื้อนแบบทั่วร่างกายในสุนัขโต มักไม่ค่อยหายขาด หรือใช้เวลานานในการรักษา ซึ่งอาจมีปัจจัยโน้มที่เกิดจากพันธุกรรมและความปกติของภูมิคุ้มกันที่กล่าวไว้เบื้องต้น เราจึงมักพบสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนเป็นไรขี้เรื้อนได้บ่อย ๆ ทั้งนี้ยังพบในสุนัขพันธุ์อื่น ๆ ได้ด้วยอีกเช่นกัน
สุนัขควรได้รับการตรวจสุขภาพโดยละเอียดกับสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ หากตรวจพบให้ทำการรักษาเพื่อให้การรักษาขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ควรใช้สัตว์ป่วยเป็นพ่อแม่พันธุ์ เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เจ้าของสัตว์ป่วยไม่ควรซื้อยามาป้อนสัตว์ป่วยเอง อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรพาไปพบสัตวแพทย์คลินิกผิวหนัง และแนะนำให้มาติดตามการตรวจรักษากับสัตวแพทย์คลินิกผิวหนัง อย่างต่อเนื่อง
เรื่องและภาพโดย
น.สพ. จักรพันธุ์ วรรณวงศ์
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา
สัตวแพทย์คลินิคผิวหนังประจำโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท