“5 ปีที่ทุกข์ทรมาณ กับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะสุนัข”

44016 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“5 ปีที่ทุกข์ทรมาณ กับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะสุนัข”

          ลูน่า สุนัขเพศเมีย พันธุ์ชิสุผสม อายุ 8 ปี มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทสาขาฮานอย ด้วยอาการปัสสาวะมีแดง ถ่ายเหลวสีดำ สุนัขมีอาการซึม อ่อนแรง และอาเจียนบ่อยมาก จากการตรวจร่างกายทั่วไปโดยสัตวแพทย์ได้คลำท้องพบสิ่งที่น่าสงสัยว่าจะเป็นก้อนแข็งขนาดใหญ่ในช่องท้องด้านท้าย จึงได้สอบถามเจ้าของเพิ่มเติม แท้ที่จริงแล้วเจ้าของทราบอยู่แล้วว่าสุนัขของตนถูกวินิจฉัยว่ามีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมาเนิ่นนานกินเวลามา 5 ปีแล้ว และมีอาการปัสสาวะปนเลือดมาโดยตลอด แต่ไม่ตัดสินใจผ่าตัดเพราะอยากลองใช้อาหารสูตรรักษานิ่วดูก่อน

สัตวแพทย์จึงตัดสินใจถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ช่องท้องสุนัขเพื่อประเมินขนาดของก้อนแข็งที่คลำตรวจพบที่บริเวณช่องท้องด้านท้าย เป็นดังคาด พบว่ามีก้อนนิ่วภายในกระเพาะปัสสาวะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 5 เซนติเมตร จำนวน 2 ก้อน กดเบียดผนังกระเพาะปัสสาวะจากภายในอย่างมาก สันนิษฐานว่าอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบและการถูกทำลายของผนังกระเพาะปัสสาวะอย่างรุนแรงจนมีเลือดออก จากนั้นสัตวแพทย์จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือด และตัวอย่างปัสสาวะเพื่อประเมินความรุนแรงของปัญหา และเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดเอานิ่วออก

เมื่อเจ้าลูน่าเดินทางมาเพื่อพักเข้าเป็นสัตว์ป่วยในที่โรงพยาบาล จึงเร่งปรับสภาพร่างกายของสุนัขให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดเป็นระเวลาประมาณ 3 วันเต็ม จากนั้นทีมสัตวแพทย์ก็เริ่มดำเนินการผ่าตัดเพื่อเอานิ่วออกให้กับลูน่าทันที การผ่าตัดสำเร็จไปได้ด้วยดี สัตวแพทย์ได้ทำการส่งตัวอย่างนิ่วไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการเพื่อหาชนิดของนิ่วต่อไป หลังจากผ่าตัดแล้วสัตวแพทย์ได้สวนท่อปัสสาวะเพื่อช่วยระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะให้กับลูน่าช่วง 4 วันแรกหลังการผ่าตัดแล้วจึงถอดออก ร่วมกับให้ลูน่าทานยาลดการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาลดปวดลดอักเสบ และยาบำรุงกระเพาะปัสสาวะ ภายหลังจากผ่าตัดแล้วจึงนัดตรวจแผลซ้ำเป็นระยะ พบว่าแผลผ่าตัดแห้งดีและผิวหนังเชื่อมกันสนิท

ลองนึกดูว่าก้อนหินขนาดครึ่งฝ่ามือ 2 ก้อน อยู่ภายในท้องของเจ้าชิสุตัวจ้อยมาตลอด 5 ปี ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด มาในวันนี้ที่เหมือนยกภูเขาออกจากอก ยกก้อนหินออกจากท้อง จากที่ต้องปวดเบ่งปัสสาวะก็กลับมาขับถ่ายได้อย่างสุนัขปกติทั่วไป ไม่แปลกใจเลยที่หลังผ่าตัดพบว่าลูน่ามีอาการสดชื่นสดใส ร่าเริงมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเก่า ปัสสาวะสีปกติดีไม่มีเลือดปนเลยภายใน 2 วันหลังผ่าตัด เริ่มกลับมากินอาหารได้ ไม่มีอาเจียน และยังขับถ่ายได้ปกติอีกด้วย สัตวแพทย์จึงได้ให้คำแนะนำการดูแลเรื่องอาหารป้องกันนิ่ว และนัดติดตามอาการเป็นระยะเพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วซ้ำอีกครั้งในอนาคต

เกร็ดความรู้ (คุณหมอขอบอก)

“ผ่านิ่วออกไปแล้ว ทำไมยังต้องควบคุมอาหารและทานยาอย่างต่อเนื่อง”

                หากจะกล่าวถึงนิ่ว การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะสุนัข อาจไม่ต่างอะไรกับที่เกิดขึ้นในคน ปัจจัยหลากหลายอย่างทั้งคุณภาพอาหาร โภชการเหมาะสมกับร่างกายของสุนัขหรือไม่ การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะเรื้อรัง ความสะอาดของน้ำ โรคการอักเสบในทางเดินปัสสาวะเป็นต้น จะเหตุใดใดก็แล้วแต่ ล้วนก่อให้เกิดความเจ็บปวดและทรมานเนื่องมาจากก้อนนิ่วแม้แต่เพียงก้อนเล็ก ๆ ก็อุดตันทางเดินปัสสาวะได้ง่าย และก่อให้เกิดอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่ต่อเนื่อง นานเข้า เกิดการสะสมของปัสสาวะที่คั่งค้างภายในกระเพาะปัสสาวะ กระตุ้นให้เกิดการอักเสบซ้ำร้ายกลับมาได้อีก ในความเจ็บป่วยก็ยังมีหนทางการรักษาวินิจฉัยได้ เช่น การเอ็กสเรย์ การอัลตร้าซาวน์ หรือแม้กระทั่งการคลำตรวจโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยังพอจะสามารถวินิจฉัยได้ หากก้อนนิ่วนั้นใหญ่เพียงพอ

                การรักษาก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หากเอาตามขั้นตอนที่ยึดถือปฏิบัติในปัจจุบัน แน่นอนว่า เราควรทราบว่าขนาดของก้อนนิ่วนั้น ขัดขวางและอุดตันทางเดินปัสสาวะมากน้อยเพียงใด ชนิดของก้อนนิ่วชนิดนั้นสามารถสลายได้ด้วยอาหารรักษาโรคสูตรเฉพาะสลายนิ่วได้หรือไม่ ก็ต้องอาศัยผลการตรวจปัสสาวะมาช่วยพยากรณ์คล่าว ๆ ว่าเป็นตะกอนนิ่วหรือตัวแทนนิ่วชนิดใด มีภาวะการอักเสบของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนด้วยอีกทีหรือเปล่า ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งที่ผลวิเคราะห์ชนิดของนิ่วออกมาแล้วพบว่า ใน 1 ก้อนอาจปะปนผสมปนเปไปด้วยนิ่วหลากหลายชนิด ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่ทุกชนิดที่จะทานอาหารรักษาโรคแล้วจะหายหรือกำจัดออกไปได้ทั้งหมด ในทุกครั้งที่มีการตรวจวินิจฉัยภาวะนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จึงต้องประเมินผลการรักษาเผื่อกรณีที่เป็นซ้ำ กลับมาเป็นกระเพาะปัสสวะอักเสบเรื้อรัง หรือไม่หายจากการทานอาหารอย่างเดียวไว้ด้วย ยาปฏิชีวนะ จึงเป็นการรักษาควบคู่อีกทางหนึ่งที่จะช่วยควบคุมภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อจนกระตุ้นให้เกิดการตกตะกอนเกาะตัวเป็นก้อนนิ่ว การที่จะกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรทานติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลา 3 สัปดาห์

                ทางเลือกที่จะช่วยรักษาอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญคือ การผ่าตัดเอานิ่วในกระเพาะปัสสาวะออก ร่วมกับการทานยาควบคุมการติดเชื้อ และให้อาหารรักษาโรคระยะยาว ย่อมเป็นทางเลือกคอมโบ้เซ็ทที่ค่อนข้างจะ “เอาโรคนี้อยู่” บุคคลสำคัญที่จะทำให้ “เอาโรคนี้อยู่” ก็ไม่ใช่ใครอื่น คือตัวเจ้าของนั่นเอง ที่ต้องเคร่งครัดในการเฝ้าสังเกตการณ์ขับถ่ายที่ผิดปกติไป รีบพาไปวินิจฉัยและรักษา การให้ยาครบตามที่สัตวแพทย์สั่ง และให้อาหารที่มีโภชนาการอย่างเหมาะสมต่อสุนัข

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้