20604 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อมูลสัตว์ป่วย
สุนัข พันธุ์ ชิสุอายุ 6 ปี เพศผู้ มาด้วยอาการมีก้อนเนื้อที่ข้างก้น และมีเลือดออก เจ้าของไม่ทราบระยะเวลาที่ก้อนเนื้อโตขึ้น สุนัขเองยังคงกินได้ร่าเริงปกติดี
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
จากการตรวจพบว่าก้อนที่ข้างก้นซ้ายในวันแรกมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร เป็นลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย เมื่อคลำตรวจรอบทวารหนัก ไม่พบการแพร่กระจายของก้อนด้านในลำไส้ใหญ่ส่วนท้าย รวมทั้งต่อมก้นยังเป็นปกติดี
เนื่องจากลักษณะก้อนที่พบมีลักษณะคล้ายก้อนเนื้องอก จึงได้ทำการตรวจเซลล์เพื่อวินิจฉัยแยกเบื้องต้นว่าเป็นกลุ่มเนื้องอกหรือกลุ่มเซลล์มะเร็ง ผลการตรวจพบว่า เป็นกลุ่มเซลล์เนื้องอก ที่ชื่อว่า Transmissible venereal tumor ( TVT) ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง และได้ทำการตรวจเลือดเพื่อเช็คสุขภาพของน้องโมจิก่อนทำการรักษาซึ่งพบว่าทุกค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดี
แนวทางการรักษา
การรักษาเนื้องอกขนิดนี้ทำได้โดยการฉีดยาคีโม (Chemotherapy) โดยปกติแล้วจะทำการฉีดอย่างน้อย 3-4 เข็ม ห่างกันเข็มละ 1 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้อและการตอบสนองต่อยาของสุนัข ซึ่งในบางรายอาจทำการฉีดต่อเนื่อง 6-8 เข็ม
ยาคีโมสำหรับรักษาเนื้องอกชนิด TVT มีผลข้างเคียงทำให้มีค่าเม็ดเลือดขาวผิดปกติ ดังนั้นทุกครั้งก่อนให้คีโม จึงต้องมีการตรวจเลือดว่าสัตว์อยู่ในสภาวะเหมาะที่จะให้คีโมได้หรือไม่ ซึ่งตัวน้องโมจิเองค่าเลือดปกติทุกอย่าง
เป็นที่น่ายินดีที่หลังการทำการรักษาไปเพียง 1 เข็ม ปรากฏว่าร่างกายของน้องโมจิตอบสนองค่อนข้างดี โดยขนาดก้อนลดลงเรื่อย ๆ และหายไปหมดในช่วงการทำเข็มที่ 3 จึงหยดการให้ยาและจบการรักษา
เกร็ดความรู้ :
เนื้องอก TVT เป็นเนื้องอกธรรมดา ลักษณะเป็นเนื้อผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ บางชนิดพบมีเลือดออกด้วย พบได้ในสุนัขตั้งแต่อายุน้อย หรืออายุที่เริ่มสมบูรณ์พันธุ์ เนื่องจากการติดของโรคนี้เกิดจากการสัมผัสเนื้องอก หลังจากนั้นเซลล์เนื้องอกจะไปแปะติดบริเวณเยื่อเมือกชุ่มของสุนัข เช่น โพรงจมูกที่เกิดจากการดม ช่องปาก ลิ้นที่เกิดจากการเลีย และที่บริเวณอวัยวะเพศ ที่เกิดจากการสืบพันธุ์กัน ด้วยธรรมชาติของเนื้องอกที่หลุดลอกง่าย และแปะติดง่ายจึงมีการเรียกเป็นชื่อเล่นของเนื้องอกชนิดนี้ว่า เนื้องอกสติ๊กเกอร์ (หากแต่ทางการแพทย์เราจะคุ้นเคยกับชื่อ TVT ซึ่งเป็นสากลกว่า)
สัตว์ที่พบว่าติดเนื้องอกชนิดนี้มักพบว่ามีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำหรือบกพร่อง เนื้องอกชนิดนี้สามารถหายเองได้ถ้าภูมิคุ้มกันของสัตว์ตัวนั้น ๆ แข็งแรงมากพอที่จะต่อต้านการติดเนื้องอกชนิดนี้ได้
หากแต่เนื้องอกที่มีขนาดโต และเริ่มลุกลามเนื้อเยื่อรอบ ๆ การรักษาที่ได้ประสิทธิภาพดีมากคือการใช้ยาคีโมชนิดฉีด ประมาณ 4-8 เข็ม ในบางกรณีอาจต้องใช้การผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออกร่วมด้วย พยากรณ์โรคของการติดเนื้องอกชนิดนี้ดีหากเริ่มการรักษาตั้งแต่ขนาดยังเล็ก และไม่มีระยะแพร่กระจายลุกลาม หากแต่ปล่อยไว้เรื้อรัง เนื้องอกชนิดนี้สามารถลามเข้าอวัยวะภายในอื่น ๆ ได้ เช่น ดวงตา สมอง ระบบสืบพันธุ์ ไต ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง เป็นต้น ระยะนี้การรักษาอาจไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากโรคแทรกซ้อน หรือภาวะอวัยวะที่เสื่อมจากโครงสร้างที่พังจากเนื้องอกลุกลาม