13082 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติ
สุนัขพันธุ์ผสม อายุ 10 ปี เจ้าของพามาที่ คลินิกผิวหนังและภูมิแพ้ จากปัญหาผิวหนังอักเสบแบบรุนแรงที่บริเวณหัวและหน้า เนื่องอาการเกาคันอย่างรุนแรง ประวัติการรักษาสุนัขได้รับยาปฏิชีวนะและแก้คันกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) มาเป็นเวลานานหลายปี และล่าสุดเจ้าของแจ้งว่าสุนัขมีอาการแย่ลงอย่างชัดเจนหลังจากสัตวแพทย์ได้ฉีดยารักษาปรสิตภายนอก
การตรวจร่างกาย
สุนัขมีอาการผิวหนังแดงอักเสบแบบรุนแรงที่บริเวณหัวและใบหน้า มีเลือดออกตามแผลที่ผิวหนัง ลามไปถึงบริเวณหลังคอและกลางหลัง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตรวจไม่พบขี้เรื้อน และตรวจพบการติดเชื้อแทรกของแบคทีเรียที่ผิวหนัง และจากการตรวจเลือด พบว่าสุนัขมีค่าเอ็นไซม์ตับและถุงน้ำดีสูงผิดปกติมาก อาจเป็นผลมาจากการใช้ยาสเตียรอยด์สำหรับอาการผิวหนังมาเป็นระยะเวลานานหลายปีจนเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว
การรักษา
สัตวแพทย์ให้ยาต้านแบคทีเรียผิวหนังแบบฉีด 1 ครั้ง ต่อ 2 สัปดาห์ และให้ยาแก้อักเสบลดอาการคัน ป้อนทานทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์
ผลการรักษา
นัดดูอาการซ้ำ 2 สัปดาห์ผ่านไป สุนัขอาการดีขึ้น ผิวหนังอักเสบยุบลง อาการคันลดลง
แผนการวินิจฉัยและรักษาต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาจากผลเลือดและสภาพผิวหนัง และร่างกาย สุนัขตัวนี้ยังสงสัยว่าจะมีโรคแฝงเพิ่มซึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นมาเวลานาน ทำให้เกิดความแปรปรวนของการสร้างฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้นสุนัขควรได้รับการตรวจ โรคฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง เช่น โรคคุชชิ่ง Cushing diseases (ความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย) โดยใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ขั้นสูงมากขึ้น และใช้ทีมสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง นอกจากนี้ ควรมีการตรวจเพิ่มเติมเช่นการทำอัลตร้าซาวน์ช่องท้องเพื่อดูลักษณะอวัยวะภายในโดยเฉพาะต่อมหมวกไตและตับ หากผลการตรวจบ่งชี้ว่าเป็นโรคฮอร์โมนแปรปรวน สุนัขควรได้รับการรักษาในทันที