5202 Views |
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) คืออะไร
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สำหรับในคนนั้น เริ่มมีการรู้จักและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเป็นการดูแลที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ
สำหรับในสัตว์เลี้ยง การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากช่วงอายุขัยของสัตว์ที่ยืนยาวขึ้นจากการเลี้ยงดูและการรักษาที่เหมาะสม ทำให้มีช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงต้องการการดูแลแบบประคับประคอง เช่นช่วงวัยชราที่มีความเสื่อมของร่างกายจากกลุ่มโรคชรา ช่วงการป่วยระยะสุดท้ายของโรคที่รักษาไม่หายขาด เป็นต้น
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สามารถทำได้เมื่อไร
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในสัตว์เลี้ยง สามารถทำควบคู่กับการรักษาหลัก และในระยะท้ายที่สภาวะร่างกายของสัตว์เลี้ยงอาจไม่เหมาะสมกับการรักษาเดิมหรือการรักษาหลัก เช่น การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการรักษาเคมีบำบัด การรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ผู้ดูแลเข้าใจตัวโรค เข้าใจการพยากรณ์ของโรค เข้าใจการรักษา และเข้าใจถึงผลประโยชน์และความเสี่ยงจากการรักษา และช่วยให้ตัดสินใจในการรับการรักษาได้ดียิ่งขึ้น โดยการดูแลแบบประคับประคองจะคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของสัตว์เลี้ยงและผู้ดูแลหรือครอบครัวร่วมด้วยเสมอ
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สามารถทำได้ที่ใด
เมื่อครอบครัวได้ยอมรับการดูแลแบบประคับประคอง และได้รับข้อมูลการดูแลจากสัตวแพทย์แล้ว การดูแลสามารถทำได้ที่บ้านหากผู้ดูแลสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ และทีมงานดูแลจะมีการประสานเพื่อรับทราบอาการหรือมีการเข้าไปเยี่ยมดูแลที่บ้านตามความเหมาะสม
หากไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ สามารถฝากดูแลที่โรงพยาบาล โดยจะมีการจัดการที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว ซึ่งอาจมีแผนการรักษาหลักหรือการรักษาทางเลือกควบคู่ไปด้วย และครอบครัวสามารถเข้าเยี่ยมได้
การรักษาทางเลือกที่ควบคู่กับการดูแลแบบประคับประคอง
นอกจากการรักษาหลักซึ่งอาจลดหรืองดตามความเหมาะสมแล้ว การรักษาทางเลือกหรือการดูแลคุณภาพชีวิตด้วยวิธีอื่นๆก็เป็นสิ่งที่สามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลแบบประคับประคองได้ เช่น
- การกายภาพบำบัดฟื้นฟู (Rehabilitation)
- การแพทย์แผนจีน เช่น การใช้สมุนไพรจีน (Chinese herbs) การฝังเข็ม (Acupuncture)
- การใช้สมุนไพรไทย (Thai herbs)
- การดูแลโภชนาการ (Nutrition)
ซึ่งทั้งหมดมุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตและคำนึงถึงความต้องการของสัตว์เลี้ยงและครอบครัวเป็นสำคัญ