60038 จำนวนผู้เข้าชม |
ต้าวแมวส้มอูนิกับFIPตัวร้าย
น้องอูนิ British Shorthair 6เดือน มาหาคุณหมอด้วยอาการหอบใจแบบเฉียบพลัน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาน้องยังร่าเริงดี แต่พอมาเมื่อวานเริ่มซึม และวันนี้หายใจกระแทก และหอบหายใจอย่างหนัก
สัตวแพทย์ตรวจร่างกาย พบว่าเสียงปอดนั้น ไม่ค่อยได้ยิน จึงทำการ x-ray วินิจฉัยเพิ่มเติม พบว่ามีน้ำในช่องอก ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้น้องหอบหายใจ และหายใจลำบากนั้นเอง เบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหาภาวะหายใจลำบากจากการมีน้ำในช่องอกนั้น สัตวแพทย์จึงต้องทำการเจาะน้ำในช่องอกออก
หลังจากน้องอูนิได้รับการเจาะน้ำในช่องอก น้องกลับมาหายใจได้ดีขึ้น ไม่หายใจกรแทก แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะต้องหาสาเหตุของการที่เกิดน้ำในช่องอกนั้นเอง โดยสาเหตุหลักของการมีน้ำในช่องอกในแมว ได้แก่ โรคหัวใจ เนื้องอก และโรคติดเชื้อ จากประวัติเบื้องต้น อูนิยังเป็นแมวเด็กอายุ 6เดือน โอกาสในการเกิดเนื้องอก จะค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สัตวแพทย์สงสัยเป็นหลัก คือโรคติดเชื้อ ที่มีโอกาสการเกิดสูงในแมวเด็ก และโรคหัวใจแต่กำเนิด สัตวแพทย์จึงไม่รอช้า หลังจากที่น้องอูนิอาการคงที่แล้ว สัตวแพทยืจึงทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เริ่มด้วยจากการตรวจโรคติดเชื้อที่สามารถทำให้เกิดน้ำในช่องอกได้ โดยส่งตรวจ Immunocomb ที่เป็นชุดตรวจเพื่อดูว่าน้องเคยพบเชื้อไวรัส corona มาก่อนหรือไม่ ซึ่งพบว่า immunocomb positive ซึ่งหมายถึงน้องเคยได้รับเชื้อมาก่อนนั้นเอง รวมทั้งนำน้องในช่องอก ส่งตรวจ Fluid analysis, Bacteria culture และ PCR FIP เพิ่มเติม และสำหรับปัญหาโรคหัวใจที่สงสัยด้วยนั้น ได้ส่งตรวจ Echocardiogram กับคุณหมอเฉพาะทางโรคหัวใจ พบว่าหัวใจปกติ ดังนั้น สัตวแพทย์จึงคาดว่าปัญหาหลักที่ส่งผลให้เกิดน้ำในช่องอกของน้อง นั้นเกิดจาก โรคติดเชื้อนั้นเอง โดยส่วนของน้ำในช่องอกที่ส่งตรวจไปนั้น พบ Detectable PCR FIP, Fluid analysis เป็น non-septic transudate, A:G ratio 0.5<0.6, และไม่พบเชื้อ Bacteria จากผลตรวจข้างต้น จึงสรุปได้ว่า สาเหตุของการมีน้ำในช่องอกของน้องอูนิ มาจาก FIP นั้นเอง
แล้ว FIP คืออะไร?? FIP คือโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (feline infectious peritonitis; FIP) โดยโรคนี้มีอัตราการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ ซึ่งสาเหตุเกิดจากไวรัสโคโรนาในแมว (FCov) เป็นไวรัสที่พบได้ในลำไส้ของแมวโดยส่วนมากมักพบในแมวที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่หนาแน่น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อ FCoV ผ่านทางอุจจาระ โรคนี้มักเกิดกับแมวเด็ก (แมวที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี) หรือแมวที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน พบมากในแมวเพศผู้ที่ยังไม่ทำหมัน และในแมวพันธุ์แท้
โดยอาการแรกเริ่มของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว อาการแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเปียก และแบบแห้ง ซึ่งทั้งสองแบบนี้ พัฒนาของโรคจะเกิดอย่างเงียบๆ โดยที่เจ้าของไม่ทันได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งแมวแสดงอาการที่รุนแรง ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาเป็นแบบการรักษาเพื่อพยุงอาการเท่านั้น ดังนั้นสำหรับแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดภายในบ้าน หมั่นทำความสะอาดกระบะทรายให้สะอาดอยู่เสมอ วางแยกจากชามอาหารของแมวที่ป่วยและแมวสุขภาพดีออกจากกัน ลดความเครียดของแมว เช่น ไม่เลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่น
ส.พญ. สุชญา บัวอุไร