3622 จำนวนผู้เข้าชม |
เรื่องเล่าของน้องนินจา
นินจา เป็นสุนัขพันธุ์ชิวาว่า เพศผู้ อายุ 8 ปี 8 เดือน น้ำหนัก 3.5 กิโลกรัม เข้ามาปรึกษาคลินิกกายภาพบำบัด หลังจากผ่านการพักฟื้นภายหลังจากผ่าตัดรักษาภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ที่ส่งผลให้น้องนินจายังมีภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตส่วนท้ายตัว ไม่สามารถลุกเดินและเบ่งปัสสาวะได้เอง
จากการเข้าตรวจรักษาในครั้งแรก นอกจากการอัมพฤกษ์ที่ยังคงอยู่ ส่งผลให้เริ่มมีปัญหากล้ามเนื้อฝ่อแล้วนั้น น้องยังมีปัญหาลูกสะบ้าเคลื่อนทั้ง 2 ข้าง ส่งผลให้ 2 ขาหลังบิดอีกด้วย
การรักษาในช่วงแรกเน้นเรื่องการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และการกระตุ้นการรับความรู้สึก โดยการใช้เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ร่วมกับการฝังเข็ม รวมถึงการสอนให้เจ้าของเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟู โดยให้เจ้าของช่วยช่วยจับยืดหดขา และให้พายืนบนพื้นหญ้า หรือบนบอลฝึกการทรงตัว รวมถึงการฝึกจับท่านั่งเป็น sphinx position เป็นกิจวัตรประจำวัน
หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์ น้องเริ่มมีการตอบสนองของขาเกิดขึ้น จึงเริ่มให้ลงเดินลู่วิ่งใต้น้ำร่วมด้วย พบว่าน้องเริ่มมีการก้าวเดินได้ โดยช่วงแรกยังเดินได้เฉพาะขาหลังซ้าย ต่อมาขาหลังขวาจึงเริ่มค่อยๆ กลับมาก้าวเดินได้
ปัจจุบันน้องยังคงมาทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูต่อเนืองนาน 3 เดือนแล้ว น้องคุมการขับถ่ายได้แล้ว และเริ่มลุกวิ่งบนบกได้ แม้ลักษณะท่าทางจะยังไม่เป็นปกติ แต่ถือว่าน้องเริ่มกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้เป็นอย่างดี
เคสนี้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จของการรักษาจากการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสัตว์และสัตวแพทย์หลายโรงพยาบาล เริ่มตั้งแต่น้องนินจาแสดงอาการระบบประสาท เจ้าของรีบพาไปคุณหมอแห่งหนึ่ง เมื่อพบปัญหาที่สงสัย คุณหมอรีบส่งน้องไปทำการวินิจฉัยปัญหาไขสันหลังโดยการทำ MRI และได้รับการผ่าตัดแก้ไขอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายมาทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูกับคุณหมออย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับความมีวินัยอย่างมากของเจ้าของในการจับน้องทำกายภาพบำบัดที่บ้านด้วยเช่นกัน
เกร็ดความรู้
ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลัง (Intervertebral disc disease: IVDD) เป็นภาวะที่หมอนรองกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างข้อต่อกระดูกสันหลัง เกิดการยื่นเข้ามาในช่องไขสันหลัง แล้วกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวด ร้องเจ็บ แขนขาอ่อนแรง หอบหายใจ กระวนกระวาย จนถึงเป็นอัมพาตได้ โดยปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสุนัข อาการและความรุนแรงขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่โดนกดเบียด กดเบียดมากน้อยแค่ไหน
ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด โดยชนิดที่ 1 เกิดจากการแตกของหมอนรองกระดูก ไม่ว่าจากแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหว หรืออุบัติเหตุก็ตาม มักทำให้เกิดอาการแบบเฉียดพลัน มักพบในสุนัขสายพันธุ์ที่มีขาสั้นและสันหลังยาว เช่น ดัชชุน ปักกิ่ง ชิห์สุ เป็นต้น ชนิดที่ 2 เกิดจากการยื่นของหมอนรองกระดูกเข้าไปกดทับเส้นประสาท มักพบในสุนัขอายุมาก และมักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่มากกว่าพันธุ์เล็ก
การรักษาสามารถทำได้ทั้งโดยการผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งการเลือกวิธีการรักษาและการตอบสนองต่อการรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะโรค ดังนั้นหากเจ้าของสามารถสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงแต่เนิ่นๆ และพาไปพบสัตวแพทย์อย่างรวดเร็ว โอกาสที่สัตว์จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติก็จะมีมากขึ้นค่ะ
สพ.ญ. นฎา ธนะมัย สัตวแพทย์ประจำคลินิกกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู