น้องโชกุนหายใจลำบาก !!

5334 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้องโชกุนหายใจลำบาก !!

น้องโชกุน สุนัขเพศผู้ พันธุ์ปอมเมอราเนียน อายุ 3 ปี เจ้าของพาน้องโชกุนเข้ามาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทเนื่องจากเห็นว่าน้องโชกุนมีอาการหายใจหอบแรง ตอนแรกคิดว่าวิ่งเล่นเยอะเลยเหนื่อย แต่รอสักพักก็ยังไม่หาย จึงรีบพามาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท ซักประวัติเพิ่มเติมพบว่าน้องโชกุนเคยมีอาการแบบนี้มาบ้าง แต่หายได้เอง ช่วงนี้อยู่ในช่วงฮีท ติดน้องสุนัขเพศหญิงที่บ้านอีกตัว ทำให้ตื่นเต้นได้ง่าย บริเวณบ้านไม่มีสัตว์มีพิษอะไร น้องโชกุนอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ 

สัตวแพทย์ตรวจร่างกาย พบว่าน้องโชกุนมีสีลิ้นคล้ำเข้มกว่าปกติ หายใจแรง เสียงดัง เสียงหัวใจและปอดยังปกติ แต่อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ มีอาการกระวนกระวาย ไม่พบน้ำมูก อุณหภูมิร่างกายยังปกติ แต่ทว่าน้องโชกุนมีภาวะน้ำหนักเกิน (ต้าวอ้วนนนน) สัตวแพทย์จึงวินิจฉัยเบื้องต้นว่าน้องโชกุนมีภาวะหลอดลมหดเกร็ง-ตีบแคบ ซึ่งภาวะนี้พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็กที่อ้วน คะแนนของร่างกายมากกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้ไขมันไปกดเบียดทางเดินหายใจได้ง่าย เมื่อเล่นเยอะ ตื่นเต้น เห่าเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะท่อหลอดลมตีบได้ สัตวแพทย์ทำการรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ดมออกซิเจน เนื่องจากสีลิ้นที่คล้ำกว่าปกติเป็นภาวะบ่งชี้ว่าระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของร่างกายไม่เพียงพอ จากปกติที่เยื่อเมือกควรเป็นสีชมพูจึงกลายเป็นสีเข้มขึ้นจนถึงม่วงนั่นเอง นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังให้ยาขยายหลอดลมร่วมกับยาลดอาการบวมอักเสบของทางเดินหายใจ ให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันภาวะช็อค ให้ยาลดอาการกระวนกระวาย และให้น้องโชกุนพักอยู่ในตู้ออกซิเจน สักพักภาวะหอบหายใจแรงของน้องโชกุนก็ดีขึ้น สีเยื่อเมือกกลับมาชมพูเป็นปกติ เสียงหายใจเบาลง สัตวแพทย์ให้น้องโชกุนอยู่ในหน่วยสัตว์ป่วยวิกฤติ ดูอาการในตู้ออกซิเจนจนกลับมาเป็นปกติ จึงสามารถออกจากตู้ออกซิเจนและดูอาการต่อที่หน่วยสัตว์ป่วยใน จนไม่พบอาการผิดปกติแล้วจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ยังคงต้องทานยาต่อเนื่องและนัดติดตามอาการเป็นระยะ

ภาวะหลอดลมตีบ นอกจากอาการแล้ว ยังสามารถวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ด้วยการถ่ายภาพรังสิ (X-ray) การถ่ายภาพรังสีแบบเคลื่อนไหว (Fluoroscopy) และการส่องกล้องดูหลอดลม (Tracheobroncoscopy) แนวทางในการรักษาขึ้นกับแต่ละตัว มีทั้งยากิน ยาพ่น หรืออาจใช้ร่วมกันขึ้นกับอาการและความรุนแรง โดยมากมักพบว่าเป็นโรคประจำตัว กล่าวคือ เมื่อพบมีอาการแล้ว การให้ยาจะช่วยบรรเทาอาการได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อากาศเปลี่ยน ตื่นเต้นมากๆ เล่นเยอะจนเหนื่อย หรือแม้กระทั่งฝุ่นละออง ก็สามารถกระตุ้นให้กลับมาแสดงอาการได้อีก ในกรณีที่มีภาวะหลอดลมตีบแบบรุนแรง อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดแก้ไข สำหรับการป้องกัน เริ่มจากการควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ เลี้ยงในที่อากาศถ่ายเท ไม่อยู่ในที่อากาศร้อนจัด มีเครื่องฟอกอากาศ ตลอดจน ไม่ใช้สายจูงปลอกคอเปลี่ยนไปใช้สายรัดอก เพื่อช่วยไม่ให้กระตุ้นให้เกิดอาการไอ หากเจ้าของพบว่าสุนัขของตัวเองมีอาการหายใจแรงผิดปกติ หรือหายใจเสียงดัง แนะนำให้พาเข้ามาตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยกับสัตวแพทย์เพิ่มเติม


สพ.ญ. วรัญญา กิจสาสน

สัตวแพทย์อายุรกรรมทั่วไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้