5803 จำนวนผู้เข้าชม |
น้องดาลี่ สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ เพศเมีย อายุ 9 ปี เจ้าของรีบพาน้องดาลี่เข้ามาที่หน่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เนื่องจากเห็นว่าน้องดาลี่ถูกงูเห่ากัด ตอนที่มาถึงโรงพยาบาล น้องดาลี่มีอาการซึม คอตก การตอบสนองช้า น้ำลายยืดไหล ยังพอหายใจได้แต่แผ่วเบา มีรอยโดนกัดที่ริมฝีปากล่าง สัตวแพทย์รีบทำการรักษาด้วยการเปิดเส้นให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้ยาแก้แพ้ และให้เซรุ่มแก้พิษงูเห่า แต่ไม่ทันการซึ่งคาดว่าน้องดาลี่จะได้รับพิษในปริมาณมาก อาการน้องดาลี่แย่ลงก่อนที่เซรุ่มจะออกฤทธิ์ เกิดสภาวะช็อค หัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจ สัตวแพทย์ได้ทำการกู้ชีพโดยสอดท่อทางเดินหายใจ นวดหัวใจ และให้ยากระตุ้นหัวใจ หลังจากดำเนินการกู้ชีพ น้องดาลี่หัวใจกลับมาเต้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังคงไม่หายใจเอง สัตวแพทย์จึงต่อเครื่องช่วยหายใจ พร้อมทั้งติดตามระดับออกซิเจนในกระแสเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันต่อเนื่อง น้องดาลี่อยู่ในสภาวะโคม่า นอนเป็นเจ้าหญิงนิทราไป 1 คืน วันรุ่งขึ้นหลังจากได้รับเซรุ่มไป น้องดาลี่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น พอที่จะกลับมาหายใจเองได้ จึงถอดเครื่องช่วยหายใจและท่อทางเดินหายใจออก น้องดาลี่กลับมารู้สึกตัวดีในช่วงเย็นวันนั้น เริ่มขยับตัว และมีสติรู้ตัวมากขึ้น แต่ยังคงอ่อนแรงอยู่ หลังจากพักฟื้น ให้น้ำเกลือต่อเนื่อง อาการและสัญญาณชีพต่างๆก็กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลุกเดินได้ แต่ยังมีภาวะริมฝีปากบวมอยู่เล็กน้อย สามารถรับกลับไปดูแลอาการและป้อนยาต่อเนื่องที่บ้านได้
งูพิษที่มักพบเจอแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ
1.งูที่มีพิษต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง โดยพิษจะไปทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆเกิดการอ่อนแรงและเป็นอัมพาต โดยเฉพาะกล้ามเนื้อกระบังลมซึ่งจะส่งผลทำให้หยุดหายใจ พิษงูมีผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และไตวาย ซึ่งอันตรายถึงชีวิต สามารถเสียชีวิตได้หลังจากโดนกัดในระยะเวลาไม่นาน
2.งูที่มีพิษต่อระบบเลือด โดยการออกฤทธิ์จะไปทำให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดเปลี่ยนไป ทำให้เลือดไม่แข็งตัว เลือดไหลออกไม่หยุด ตัวอย่างของงูในกลุ่มนี้คือ งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ ตำแหน่งที่โดนงูกัดมักพบมีการติดเชื้อและเนื้อตายตามมาได้
สำหรับการรักษาเมื่อโดนงูกัด จะทำโดยการให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ แก้ไขสภาวะช็อค ให้ยาแก้แพ้ ลดอักเสบ และเซรุ่มแก้พิษงู แต่ตัวเซรุ่มส่วนใหญ่จะไปจับกับพิษที่อยู่กระแสเลือด ในกรณีที่โดนมานานและพิษที่ไปจับกับตัวรับหรือเนื้อเยื่อในร่างกายจนเกิดการออกฤทธิ์แล้วเซรุ่มจะไม่ค่อยได้ผล เซรุ่มที่ใช้จะทำมาจากเลือดของม้าซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการแพ้ได้ แต่พบเจอค่อนข้างน้อย โดยเซรุ่มที่ใช้จะเฉพาะกับชนิดของงู ดังนั้นเมื่อพบว่าสัตว์เลี้ยงโดนงูกัด หรือสู้กับงู จำเป็นที่จะต้องรู้ลักษณะเบื้องต้นของงูที่เห็น เพื่อที่สัตวแพทย์จะได้เลือกใช้เซรุ่มได้ตรงกับพิษ เพราะหากรอให้อาการออกชัด อาจทำให้ไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงทีได้ นอกจากนี้ยังต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อคุมการติดเชื้อจากการโดนกัดอีกด้วย หากเจ้าของพบว่าสัตว์เลี้ยงของตัวเองสู้กับงูหรือโดนงูกัด ให้รีบพาเข้ามาตรวจอาการที่โรงพยาบาลสัตว์ทันที ในบางรายที่ได้รับพิษไม่เยอะ อาจจะไม่แสดงอาการให้เห็นในตอนแรก แต่จะค่อยๆพบอาการผิดปกติเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นแนะนำให้เฝ้าดูอาการที่โรงพยาบาลสัตว์และให้สัตว์แพทย์ประเมินอาการเป็นระยะเพื่อความปลอดภัย การปฐมพยาบาลระหว่างทางที่พามาโรงพยาบาล แนะนำให้ใช้น้ำสะอาดหรือน้ำเกลือล้างบริเวณรอยโดนกัดเพื่อลดปริมาณพิษและสิ่งสกปรก ไม่แนะนำให้พันกด หรือใช้เชือกรัด เพราะจะทำให้มีปัญหาต่อระบบหมุนเวียนโลหิต และทำให้บริเวณที่โดนกัดเกิดเนื้อตายตามมาได้
น.สพ. ณัฐธีร์ ระพีร์ทวีโชติ
สัตวแพทย์หน่วยอายุรกรรมผู้ทำการรักษา