87447 จำนวนผู้เข้าชม |
น้องเป๋าตุงมีอาการเกาคันและสะบัดหัวบ้าง ส่วนอาการอื่นๆปกติดี เล่นซนกินเก่ง ไม่พบความผิดปกติอื่น สัตวแพทย์จึงทำวินิจฉัยโดยการเก็บตัวอย่างขี้หูนำไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบว่าเจอสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กคือ ตัวไรในหู (ear mite) เป็นจำนวนมาก
ไรในหู หรือ ear mite เป็นปรสิตภายนอกขนาดเล็ก หากมีปริมาณมากจะส่งผลทำลายเนื้อเยื่อภายในช่องหู เกิดภาวะหูอักเสบได้ ตัวไรนี้สามารถติดได้ทั้งในแมว เฟอเรท สุนัข มักมาจากสิ่งแวดล้อม หรือจากสัตว์เลี้ยงด้วยกัน เมื่อติดไรในหูแล้วจะทำให้สัตว์มีอาการคัน ระคายเคือง แล้วจะพยายามสะบัดหูและใช้เท้าเกาหรือแคะบริเวณหู ในบางรายอาจเป็นแผลที่หูเนื่องจากการเกาได้ รวมถึงหากสะบัดหูและเกาอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดใบหูบวมจากการที่เส้นเลือดฝอยที่ใบหูแตกได้
วิธีการรักษาไรในหูทำได้โดย
1. หมั่นทำความสะอาดหูด้วยน้ำยาล้างหูอย่างน้อยวันละครั้ง เมื่อปริมาณขี้หูลดลงแล้ว จึงปรับเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเป็นการกำจัดตัวไรและเศษขี้หูที่เป็นอาหารของตัวไร
2. กำจัดปรสิตภายนอกอย่างสม่ำเสมอ และควรทำในสัตว์เลี้ยงทุกตัวในบ้าน ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกที่ใช้อย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพในแมว จะเป็นรูปแบบหยดหลัง (หยดที่ผิวหนังบริเวณหลังคอ ซึ่งน้องแมวเลียไม่ถึง) มีทั้งแบบรายเดือนและรายสามเดือน ขึ้นกับอายุและน้ำหนัก สามารถเลือกใช้ได้ตามเหมาะสมโดยสัตวแพทย์
3. หากพบว่ามีการติดเชื้อไรในหูปริมาณมาก ร่วมกับพบการอักเสบของช่องหู หรือการติดเชื้อยีสต์หรือแบคทีเรียแทรกซ้อน สัตวแพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยาฆ่าเชื้อและลดอักเสบในรูปแบบยาหยดหูร่วมด้วย
4. ช่วงแรกของการรักษา น้องแมวจะไม่ชอบให้มีการเช็ดหรือใส่ยาในหู อาจมีการต่อต้าน หรือใช้ขาหน้าเกาหู จึงแนะนำให้ใส่ลำโพงในช่วงแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลจากการเกาคันแรงๆได้
ภายหลังจากที่สัตวแพทย์วินิจฉัยและวางแผนการรักษาให้กับเจ้าของแล้ว เจ้าของน้องเป๋าตุงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช็ดทำความสะอาดหูและหยดยาหูต่อเนื่องเป็นประจำ เมื่อสัตวแพทย์นัดดูอาการในสัปดาห์ต่อมา จึงพบว่าขี้หูของน้องเป๋าตุงลดลงจนเกือบเป็นปกติ ไม่พบไรในหูแล้ว สามารถหยุดการใช้ยาหยดหูได้ แต่หลังจากนี้ ต้องเช็ดหูให้น้องเป๋าตุงเป็นประจำ และใช้ผลิตภัณฑ์หยดหลังคอที่ป้องการปรสิตภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้ น้องเป๋าตุงก็หายจากการติดเชื้อไรในหูได้
สพ.ญ.วรัญญา กิจสาสน
สัตวแพทย์ผู้ตรวจรักษา