49017 จำนวนผู้เข้าชม |
จ้ำเลือดบริเวณท้อง (Petichial Hemorrhage) คือจุดเลือดออกเล็กๆในชั้นผิวหนัง เกิดจากการที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ในสภาพร่างกายที่ปกติ เกล็ดเลือดจะทำหน้าที่อุดรอยรั่วของหลอดเลือดที่มีบาดแผล ในสุนัขที่เป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดหากหลอดเลือดฝอยในชั้นผิวหนังฉีกขาด ก็จะไม่มีเกล็ดเลือดมาอุดรอยรั่ว เนื่องจากพยาธืเม็ดเลือดได้ทำลายเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดไปแล้ว ทำให้มีเลือดไหลออกมาในชั้นผิวหนังก็จะเห็นเป็นจ้ำเลือดเล็กๆบริเวณท้อง
น้องหม้อข้าวได้รับการรักษาพยาธิเม็ดเลือดด้วยการทานยาฆ่าเชื้อ ร่วมกับการจัดการอาหารเพื่อลดน้ำหนัก สิ่งที่ผิดปกติคือในช่วงแรกของการรักษา น้องหม้อข้าวไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว ทุกครั้งที่นัดติดตามอาการพบว่าจ้ำเลือดที่ท้องยังมีอยู่ และผลเลือดยังพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำอยู่เสมอๆ ซึ่งในกรณีที่มีการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดอย่างเดียว หากป้อนยาได้ตามที่สัตวแพทย์กำหนด ควรจะมีการตอบสนองของค่าเลือดที่ดีขึ้น สัตวแพทย์ตรวจวินิจฉัยเพิ่มจึงพบว่า น้องหม้อข้าวมีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือดตัวเอง (Immune Mediated Thrombucytopenia) ร่วมด้วย จึงเพิ่มการรักษาโดยให้ยากดภูมิคุ้มกันควบคู่กับการกินยาฆ่าเชื้อและยาบำรุง
หลังทานยาฆ่าเชื้อจนครบ 6 สัปดาห์แล้ว ได้ทำการตรวจหาพยาธิเม็ดเลือดซ้ำโดยใช้การเทคนิคการตรวจหาเชื้อด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อในตัวอย่างเลือด (PCR) ผลออกมาพบว่าไม่มีการติดพยาธิเม็ดเลือดในร่างกายแล้วจึงสามารหยุดยาฆ่าเชื้อได้ แต่ยังต้องทานยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง
ปัจจุบัน น้องหม้อข้าวมีเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดแดงอยู่ในระดับปกติมานานกว่า 2 เดือนแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการลดขนาดของยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งหลังจากนี้น้องหม้อข้าวต้องป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้มีเห็บซึ่งเป็นพาหะของเชื้อพยาธิเม็ดเลือด ส่วนภาวะน้ำหนักเกินและไขมันพอกตับสามารถจัดการด้วยการปรับอาหารการกิน และยาบำรุงการทำงานของตับ
โดยที่น้องหม้อข้าวเป็นตัวอย่างของสุนัขที่ป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำ แต่ก็ยังสามารถเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดได้ เพราะประเทศไทยมีความชุกของเชื้อค่อนข้างมากและหลากสายพันธุ์ กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาที่ใช้ป้องกันเห็บหมัด จะออกฤทธิ์ฆ่าเห็บได้ก็ต่อเมื่อเห็บนั้นได้กัด และดูดกินเลือดของน้องหมาที่ยังคงมีตัวยาออกฤทธิ์อยู่ จึงจะแห้งตายไป ดังนั้นการป้องกันเห็บหมัดจะช่วยลดประชากรเห็บบนตัวสุนัข ทำให้โอกาสการได้รับเชื้อลดลง นอกจากนี้ควรทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่สุนัขอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เห็บมาทำรัง สร้างครอบครัวเพิ่ม หากพบว่าสุนัขที่บ้านเริ่มมีจ้ำเลือดบริเวณผิวหนัง โปรดอย่ารอที่จะพามาพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม หากปล่อยเลยจนถึงขั้นวิกฤติอาจทำให้ภาวะโรคดำเนินไปรุนแรงจนอันตรายถึงชีวิตได้
เกร็ดความรู้
โรคพยาธิในเม็ดเลือด (Blood parasite) เป็นโรคที่ติดต่อผ่านเห็บหมัด ที่เป็นพาหะของเชื้อหลายชนิด เช่น Anaplasma, sp. Babesia sp. Hepatozoon sp. และ Ehrlichia sp. เมื่อสัตว์ป่วยติดเชื้อ จะแสดงอาการซึม เบื่อาหาร มีไข้ เหงือกซีด พบจุดเลือดออกบริเวณท้อง มีเลือดกำเดาไหล เลือดหยุดช้า ปัสสาวะมีสีเลือดปน ในบางตัวอาจพบอาการทางระบบประสาทเช่น ชัก หรืออัมพาตโดยที่อาการและความรุนแรงของแต่ละตัวจะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของเชื้อ ปริมาณของเชื้อในกระแสเลือด ช่วงอายุ ภาวะสุขภาพ การเลี้ยงดู และภูมิต้านทานของสัตว์ ในบางตัวอาจป่วยแบบเรื้อรังทำให้สังเกตอาการป่วยได้ยาก
การตรวจวินิจฉัยจะใช้การตรวจหลายๆวิธีร่วมกัน ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด รวมถึงตรวจเช็คค่าตับค่าไตร่วมด้วย, การนำเลือดส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาตัวพยาธิเม็ดเลือด, การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อพยาธิเม็ดเลือด หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ
การรักษา ทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องอย่างน้อย 4-6สัปดาห์ แล้วทำการตรวจหาเชื้อซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้ออยู่ในกระแสเลือดแล้ว จึงสามารถหยุดยาได้ นอกจากนี้ยังต้องรักษาอาการอื่นๆที่พยาธิเม็ดเลือดโน้มนำให้เป็นด้วย เช่น หากมีภาวะเลือดจางหรือเกล็ดเลือดต่ำก็จะต้องมีการถ่ายเลือด เป็นต้น
เนื่องจากโรคนี้ติดต่อผ่านทางการกัดของเห็บหมัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันเห็บหมัดจากตัวสัตว์โดยการให้ยาควบคุมปรสิตภายนอกอย่างเหมาะสม และไม่ให้สัตว์เลี้ยงไปคลุกคลีกับสัตว์จรจัด นอกจากนั้นการนำสุนัขมาตรวจสุภาพเป็นประจำ ก็จะเป็นการเฝ้าระวังการเกิดโรคได้เช่นกัน
น.สพ. สุทธิพงษ์ กรรเกษ
สัตวแพทย์ผู้ตรวจรักษา