6478 จำนวนผู้เข้าชม |
เจ้าของแจ้งว่าน้องคัตซึแข็งแรงร่าเริงดี เจ้าของป้องกันเห็บหมัดให้เป็นประจำทุกเดือน และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี สัตวแพทย์จึงทำการตรวจสุขภาพเบื้องต้น อาการทุกอย่างปกติดี น้องคัตซึร่าเริงมาก แต่หินปูนเยอะและเริ่มมีปัญหาเหงือกอักเสบ ซึ่งควรได้รับการขูดหินปูนเพื่อแก้ไข โดยที่ปกติแล้วการขูดหินปูนในสุนัขเป็นหัตถการที่ต้องวางยาสลบ เนื่องจากสุนัขจะไม่ยอมอยู่นิ่งๆให้สัตวแพทย์ใช้เครื่องมือทำงานในช่องปากได้ และเพื่อเป็นความปลอดภัยกับตัวสัตว์ จึงจำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อดูความพร้อมในการวางยาสลบ สัตวแพทย์จึงทำการเก็บตัวอย่างเลือด ผลการตรวจพบว่า ค่าเลือดทุกอย่างดูเป็นไปในแนวทางที่ดี ค่าบ่งชี้การทำงานของตับและไตปกติ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวปกติ ทว่ามีค่าของเกล็ดเลือดที่ค่อนข้างต่ำ สัตวแพทย์จึงทำการตรวจพยาธิเม็ดเลือดจากการส่องสไลด์ และตรวจภูมิคุ้มกันต่อพยาธิเม็ดเลือดด้วยชุดตรวจ เนื่องจากการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดมีผลทำให้เกิดภาวะเลือดจางและเกล็ดเลือดต่ำได้ โดยที่ถ้าเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ จะมีผลทำให้เลือดออกง่าย และหยุดช้า ซึ่งผลการตรวจพบว่าน้องคัตซึติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดชนิด E.Canis เป็นบวกทั้งจากผลตรวจจากการส่องสไลด์ และผลตรวจจากชุดตรวจ เป็นไปตามที่สัตวแพทย์สันนิษฐานในเบื้องต้น ดังนั้น เรื่องขูดหินปูนจึงต้องขอชะลอไว้ก่อน เนื่องจากลักษณะฟันและเหงือกของคัตซึยังไม่ได้อยู่ในขั้นที่ต้องรีบทำฟันอย่างเร่งด่วน สัตวแพทย์แนะนำให้ทำการรักษาพยาธิเม็ดเลือดก่อน หลังจากจบโปรแกรมรักษา หากค่าเลือดกลับมาปกติ ผลพยาธิเม็ดเลือดเป็นลบ แล้วค่อยนัดมาทำการขูดหินปูนต่อไป ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าของจะยืนยันว่าป้องกันเห็บหมัดตลอดเป็นประจำทุกเดือนแต่ทำไมถึงยังเป็นพยาธิเม็ดเลือดได้อยู่ล่ะ? สัตวแพทย์มีคำตอบให้
แม้ว่าเจ้าของจะมีการป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำแต่ไม่ได้หมายความว่าน้องเห็บตัวน้อยๆ จะกัดน้องหมาไม่ได้ เนื่องจากว่า กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาที่ใช้ป้องกันเห็บหมัด จะออกฤทธิ์ฆ่าเจ้าเห็บตัวน้อยก็ต่อเมื่อเห็บนั้นได้กัด และดูดกินเลือดของน้องหมาที่ยังคงมีตัวยาออกฤทธิ์อยู่ จึงจะสิ้นลมไป อ้าวแล้วทำไมเรายังต้องป้องกันอยู่ตลอดล่ะ? ก็เพราะว่า หากเราไม่ป้องกันเอาไว้น้องเห็บก็จะขยายพันธุ์กันอย่างสนุกสนาน และไม่สามารถควบคุมจำนวนได้ ไม่มีตัวไหนล้มหายตายจาก ดังนั้นการป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำทุกเดือนเป็นการช่วยลดประชากรน้องเห็บ และลดอัตราการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดในน้องหมาได้เช่นกัน และหากจะให้ดีควรจะมีการควบคุมประชากรเห็บที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของบ้านร่วมด้วย
แนวทางในการรักษาพยาธิเม็ดเลือด คือ ต้องกินยาฆ่าเชื้อพยาธิเม็ดเลือดเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ ซึ่งน้องคัตซึได้รับยาฆ่าเชื้อพยาธิเม็ดเลือดและติดตามอาการกับสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด หลังจากครบโปรแกรมการรักษา ผลตรวจเลือดน้องคัตซึ พบว่าเกล็ดเลือดกลับมาอยู่ในช่วงที่ปกติดี สัตวแพทย์แฮปปี้ น้องคัตซึแฮปปี้ เจ้าของแฮปปี้ จึงนัดทำการวางยาเพื่อขูดหินปูน ต่อไป หลังทำฟันเสร็จ น้องคัตซึก็ได้ฟันที่สะอาดกลับมา ฟันขาวปิ๊ง และไม่มีกลิ่นปาก ^^
เกร็ดความรู้
โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในสุนัข โดยที่เชื้อพยาธิเม็ดเลือดที่พบได้บ่อยในประเทศไทย มี 4 ชนิด ได้แก่ Ehrlichia spp., Anaplasma spp., Babesia spp. และ Hepatozoon spp.
สาเหตุ
เกิดจากเห็บที่เป็นพาหะอยู่บนตัวสุนัขค่ะ โดยเห็บสามารถแพร่เชื้อพยาธิเม็ดเลือดเข้าสู่ร่างกายสุนัขได้ 2 ทาง ทางแรกเกิดได้โดยขณะที่เห็บดูดกินเลือดสุนัข เชื้อ Babesia, Ehrlichia, Anaplasma จากเห็บจะถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดของสุนัข ซึ่งจะแตกต่างจาก เชื้อ Hepatozoon ที่จะติดต่อโดยสุนัขบังเอิญเลียกินเอาเห็บที่มีเชื้อชนิดนี้เข้าไป และใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ในการกระจายตัวสู่อวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่เจ้าของจะทราบต่อเมื่อปรากฏอาการจะเห็นได้ว่าเห็บจะเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น ดังนั้นถ้าเราสามารถตัดวงจรไม่ให้สุนัขโดนเห็บกัด หรือกินเอาเห็บเข้าไป โอกาสการเกิดโรคนี้ก็จะน้อยลงตามมาด้วย
อาการโดยรวมที่พบบ่อยจะมีดังนี้
1. ไข้สูง
2. ซึม อ่อนแรง ไม่กินอาหาร
3. เยื่อเมือกซีด บ่งบอกถึงโลหิตจาง ต้องตรวจเลือดยืนยัน
4. บางตัวพบว่ามีจุดเลือดออกตามผิวหนัง โดยเฉพาะหน้าท้อง หรือเลือดออกง่าย เช่นเลือดกำเดาไหลแล้วหยุดยาก เมื่อตรวจเลือดพบว่าเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ
5. อาการอาการอื่นๆ ที่พบร่วมก็จะมีดังนี้ค่ะ ตับอักเสบ ม้ามโต ตับโต อาการที่พบได้แต่ไม่บ่อย ได้แก่ อาเจียน ถ่ายเหลว ตัวบวมน้ำร่วมกับอาการท้องมาน อาการทางประสาท เลือดออกในลูกตา เลือดออกในเยื่อตาขาว
ซึ่งใบสุนัขบางตัวที่แข็งแรงดี อาจจะไม่แสดงอาการให้เห็นเมื่อมีการติดเชื้อในระยะเริ่มต้น ต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มจึงจะสามารถยืนยันการติดเชื้อได้
วิธีการตรวจยืนยัน
1. นำตัวอย่างเลือดตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยผู้เชี่ยวชาญ (Blood smear) วิธีนี้ความไวต่ำ แต่แม่นยำสูง หากมีการติดเชื้อไม่เยอะ อาจจะไม่พบ
2. นำตัวอย่างเลือดตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ (SNAP test) วิธีนี้ความไวและความแม่นยำสูง ในกรณีที่ไม่เคยตรวจพบการติดเชื้อและรักษามาก่อน เนื่องจากหากเคยได้รับเชื้อมาแล้ว 6-8 เดือน ระดับภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อยังจะขึ้นสูงอยู่ ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นการติดเชื้อครั้งใหม่ หรือการติดเชื้อรอบเดิม
3.นำตัวอย่างเลือดตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ ( PCR) วิธีนี้ความไวและแม่นยำสูงมาก แนะนำในการตรวจเมื่อจบโปรแกรมการรักษาเพื่อยืนยันว่ายังมีพยาธิเม็ดเลือดหลงเหลืออยู่หรือไม่ เนื่องจากการกินยาฆ่าเชื้อจะทำให้ปริมาณเชื้อพยาธิเม็ดเลือดลดลง การตรวจด้วยวิธีส่องกล้องจุลทรรศน์อาจไม่พบ
การรักษาและการป้องกัน
วิธีการรักษาคือ การให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดและการรักษาตามอาการ โดยจะต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ ร่วมกับตรวจเลือดเพื่อประเมินค่าเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเป็นระยะ และต้องติดตามผลต่ออีก 6 เดือน ถึง 1 ปี
การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดนั้นจะต้องอาศัยการเอาใจใส่ดูแลจากเจ้าของ โดยการป้องกันเห็บซึ่งเป็นพาหะของเชื้อ เป็นประจำสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีหลายวิธีและหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งรูปแบบกิน รูปแบบหยดหลัง รายเดือน หรือรายสามเดือน สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม อายุและน้ำหนัก เช่น ตามลักษณะพื้นที่อยู่อาศัยและลักษณะการเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพน้องหมาอย่างน้อยปีละครั้งด้วยในกรณีที่อายุไม่เกิน 6 ปี และปีละสองครั้งกรณีที่อายุเกิน 6 ปีค่ะ
สพ.ญ.ปนิษฐา รัตนศรีอำไพพงศ์
สัตวแพทย์ผู้ตรวจรักษา