28967 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้าวเหนียวเป็นสุนัขหนุ่มน้อยพันธุ์ปั๊กเพศผู้ อายุ 4 เดือน มีอาการหน้าบวม ก่อนหน้านี้ยังปกติดีอยู่ เจ้าของปล่อยวิ่งเล่นบริเวณหน้าบ้าน พอกลับเข้าบ้านมาอีกทีหน้าก็บวมมากแล้ว ไม่รู้ว่าไปโดนอะไรมา
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
อาการโดยทั่วไปของน้องข้าวเหนียว คือ ยังดูร่าเริงอยู่ แต่มีอาการบวมทั้งใบหน้า จนตาแทบปิดเกิดขึ้นฉับพลัน ตรวจหาไม่พบบาดแผลหรือรอยเขี้ยวสัตว์ใดใด สัญญาณชีพอื่น ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติดี จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น จึงวินิจฉัยได้ว่า เป็นลักษณะของอาการแพ้ อาจเป็นอาการแพ้จากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย อาหาร ยาง ละอองเกสรหญ้าเป็นต้น
สัตว์แพทย์ได้ทำการให้ยาแก้แพ้ ยาลดบวมอักเสบแบบฉีด และให้ฝากดูอาการแพ้อย่างต่อเนื่องให้ปลอดภัยที่โรงพยาบาลสัตว์ก่อน เนื่องจากน้องข้าวเหนียวเป็นสุนัขพันธุ์ปั๊ก ซึ่งเป็นพันธุ์หน้าสั้นและรูจมูกตีบ กรณีที่เกิดภาวะหน้าบวม อาจส่งผลทำให้เกิดอาการหายใจลำบากตามมาได้ จึงต้องเฝ้าระวัง ดูแลอย่างใกล้ชิด
ภายหลังจากที่ให้ยาแล้ว ภาวะบวมของหน้าก็ลดลง จนแทบเป็นปกติเมื่อผ่านไป 4-6 ชั่วโมง และจากการตรวจค่าเลือดเพิ่มเติม ก็พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดี สัตวแพทย์จึงวางใจให้น้องข้าวเหนียวกลับบ้าน และอยู่ในความดูแลของเจ้าของ พร้อมกับกินยาแก้แพ้ต่อเนื่อง และนัดดูอาการที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา
เกร็ดความรู้
การแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันรวดเร็วทั่วทั้งร่างและ และอาจมีอันตรายรุนแรงถึงชีวิต อาการที่จะแสดงให้พบเห็นมากที่สุดคืออาการในระบบผิวหนัง เช่นผื่นลมพิษ คัน รองลงมาได้แก่ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบทางเดินอาหาร อาจพบเพียงระบบเดียวได้เช่นกัน มักเกิดอาการภายในเวลา 5-30 นาทีภายหลังได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้
สาเหตุของการเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ อาหาร ยา แมลง ยางธรรมชาติ ละอองเกสรหญ้า วัคซีน ไรฝุ่น เป็นต้น
ทั้งนี้การปล่อยสุนัขออกวิ่งเล่นในธรรมชาติ อาจต้องให้อยู่ในสายตาของเจ้าของตลอด หากเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรง ซึ่งบางครั้งไม่อาจคาดเดาถึงความรุนแรงของอาการแพ้ว่าจะถึงแก่ชีวิตหรือไม่ เจ้าของคือผุ้ช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงที่เร็วที่สุดในการพาสัตว์ที่สงสัยว่าจะเกิดอาการแพ้มาที่โรงพยาบาลเพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร่งด่วน
เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ. วรัญญา กิจสาสน
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา
อ้างอิงจาก : แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีการแพ้ชนิดรุนแรง (http://allergy.or.th/2016/pdf/Draft_full_CPG_Thai_Anaphylaxis%20_2017_for_AAIAT.pdf)