3806 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติ
บัวลอย เป็นลูกแมวอายุเพียง 3 เดือน เพศเมีย พันธุ์ผสม เป็นแมวถูกทิ้งไว้ที่วัด พระผู้ดูแลเมตตานำบัวลอยมาตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เพราะเห็นว่ามีอาการตาเจ็บตาข้างขวา แต่ยังร่าเริง กินอาหารดีอยู่
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
พบแมวมีสภาพภายนอกทั่วไปร่าเริงดี มีอาการจาม ตาข้างขวาบวมปิด เยื่อตาบวมมาก แต่ยังสามารถเช็ดเปิดตาได้ ส่วนตาข้างซ้ายยังปกติ ไม่พบแผลในช่องปาก เสียงปอดเสียงหัวใจปกติ การตรวจตาโดยย้อมสีตาไม่พบแผลหลุมที่กระจกตา สัตวแพทย์จึงวินิจฉัยว่า บัวลอยมีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดแมว จึงจ่ายยาหยอดตาคุมการติดเชื้อ และยากินลดอักเสบ ร่วมกับกินยาปฏิชีวนะ เพื่อคุมการติดเชื้อหวัดแมว นัดดูอาการอีก 3 วัน ในระหว่างนี้ให้ใส่ collar กันแมวเกาตา และกักบริเวณ เพื่อกันการแพร่เชื้อไปสู่แมวตัวอื่น
การติดตามอาการและแนวทางการรักษา
ถึงวันนัดดูอาการ เนื่องจากแมวอยู่ในบริเวณวัดที่เป็นบริเวณกว้าง พระผู้ดูแลไม่สามารถกักบริเวณได้ และแมวมักจะเอา collar ออก อาการที่หลวงพี่พากลับมารอบนี้ พบว่าตาบวมเป่งทั้ง 2 ข้าง มีเมือกหนองติดแน่น ต้องใช้ยาชาหยอดตาช่วยเพื่อเปิดเยื่อตาให้สามารถเปิดตาได้ ตาทั้ง 2 ข้างยังคงไม่พบแผลที่กระจกตา และอาการแมวยังร่าเริงอยู่มาก มีจามหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้น สัตวแพทย์จึงขออนุญาตพระผู้ดูแลให้ฝากแมวไว้ที่โรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาดวงตาและอาการหวัดอย่างต่อเนื่องภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์และพยาบาล ทำการหยอดตาทุก 2 ชั่วโมง และมีคุณหมอคอยเช็ดเปิดตาให้ หลังจากฝากไว้ประมาณ 5 วัน มีการให้ยาอย่างเคร่งครัดเพื่อคุมการติดเชื้อ ลดอักเสบ และน้ำตาเทียม ร่วมกับการใส่ collar ป้องกันการเกาตา และมียากระตุ้นภูมิคุ้มกันกินเสริม ตาเริ่มบวมลดลง สามารถเปิดตาได้เอง อาการจามลดลง จึงพิจารณาให้รับกลับวัดได้ โดยรอบนี้แนะนำพระผู้ดูและลูกวัด ให้เฝ้าดูอาการต่อเนื่อง ดูแลเรื่องการใส่ collar ป้องกันการเกา กักบริเวณ และหยอดยาตาต่อเนื่อง
เกร็ดความรู้
โรคไวรัสหวัดแมว เกิดจากเชื้อไวรัส Feline Herpe virus, Feline Calicivirus หรือ Chlamydophilia ซึ่งแมวอาจติดเชื้อเพียงหนึ่งชนิดหรือติดร่วมกันก็ได้ การติดต่อจะติดระหว่างแมวด้วยกัน ผ่านทางน้ำมูก น้ำตา หรือน้ำลาย ซึ่งอาจปนเปื้อนมาจากอาหาร หรือคนเป็นผู้ส่งผ่านเชื้อก็ได้ พบบ่อยในแมวที่เลี้ยงอยู่ด้วยกันหนาแน่น อาการการแสดงออกขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแมวแต่ละตัว โดยทั่วไปแมวจะซึม มีไข้ มีน้ำมูก ไอ จาม ตาอักเสบ ปากอักเสบ มีแผลหลุมที่ลิ้น หากติดเชื้อรุนแรงจะมีอาการปอดบวมร่วมด้วย และอาจเสียชีวิตในที่สุด
การป้องกัน ทำได้โดยการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแสดงความรุนแรงของโรค ไม่ควรเลี้ยงแมวให้อยู่กันอย่างหนาแน่นเกินไป รวมถึงไม่ควรพาแมวออกไปในที่ที่มีความเสี่ยง และหากนำแมวใหม่เข้ามาเลี้ยง ก็ควรจะแยกเลี้ยงกับแมวตัวอื่นก่อนนำมาเลี้ยงรวมกัน อย่างน้อย 1 สัปดาห์ค่ะ
เรื่องและภาพโดย
โดย สพ.ญ. นฎา ธนะมัย
สัตวแพทย์ผู้ทำการตรวจและรักษา