17528 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อมูลสัตว์ป่วย
ไซบีเรียนเด็กอายุ 4 เดือน เพศเมีย ชื่อ Noosa มาด้วยอาการท้องเสีย เจ้าของนึกขึ้นได้ว่า 2 วันก่อน เห็น Noosa กินถุงเท้าเข้าไป เจ้าของพยายามห้ามแต่ไม่ทันจริง ๆ หลังจากนั้นก็สังเกตพบอุจจาระเหลวต่อเนื่อง แต่ยังคงกินอาหารได้ดี และไม่มีอาเจียน
การตรวจและการรักษา
จากการตรวจร่างกาย พบว่า Noosa มีอาการปวดเกร็งท้อง และมีท้องเสียเป็นน้ำออกมาเนือง ๆ หมอทำการตรวจอุจจาระเบื้องต้น พบมีการติดเชื้อที่ทางเดินอาหารร่วมด้วย และเนื่องจากเจ้าของเห็น Noosa กินถุงเท้าเข้าไปจริงๆ และตอนนี้ก็มีอาการปวดเกร็งท้องร่วมกับอาการถ่ายเหลว โดยเจ้าของแจ้งว่าหลังจากที่กินถุงเท้ายังไม่พบถุงเท้าออกมากับอุจจาระ จึงพิจารณาตรวจวินิจฉัยต่อไปด้วยการเอกซเรย์กลืนแป้งแบเรี่ยม มีประโยชน์ในการตรวจในรายที่สงสัยว่ามีการกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายแล้วมีการอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นการอุดตันบางส่วนในทางเดินอาหาร และการอุดตันโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจในรายที่มีการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารช้ากว่าปกติ เป็นต้น วิธีการตรวจ สามารถทำได้โดยการป้อนแป้งที่ผสมให้อยู่ในรูปของเหลว จากนั้นทำการเอกซ์เรย์ที่ระยะเวลาต่างๆ ใน 1 วัน เพื่อดูการเคลื่อนตัวของแป้งว่าสัมพันธ์กับเวลาที่ผ่านไปหรือไม่ และลักษณะรูปร่างของแป้งที่เคลื่อนตัวในทางเดินอาหารนั้นมีลักษณะปกติหรือไม่
ผลการตรวจเอกซเรย์โดยการกลืนแป้งของ Noosa พบว่าแป้งมีลักษณะเป็นก้อนยาวและค้างเป็นเวลานานอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ใกล้ทวารหนัก
การรักษา
ในระหว่างที่มีการตรวจวินิจฉัย หมอได้ให้การรักษาด้วยการให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด ยาฏิชีวนะ ยาลดปวด วิตามิน และกลูโคส หลังจากนั้น พบว่า Noosa มีอาการร่าเริงขึ้น แต่ยังคงมีถ่ายเหลวเป็นหยดๆ
หลังจากค้นพบว่ามีการอุดตันและค้างของแป้งบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย สัตวแพทย์จึงทำการล้วงสวนทวารหนักด้วยยาสำหรับสวนโดยตรง ในที่สุด ไม่นานนักก็พบว่า Noosa อุจจาระออกมา ในอุจจาระนั้นมีเศษผ้าออกมาด้วย 3 ชิ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเศษของถุงเท้า
หลังจากนำเศษถุงเท้าออกมาได้ จึงแจ้งให้เจ้าของให้อาหารอ่อน ๆ ก่อนช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เนื่องจากการอักเสบและการติดเชื้อยังคงมีอยู่ ป้อนยาปฏิชีวนะตามกำหนด และให้ดื่มน้ำสะอาดสม่ำเสมอ
คำแนะนำ
ในรายที่สงสัยว่ามีการกินสิ่งแปลกปลอม แล้วทำให้มีการอุดตันในทางเดินอาหาร สามารถทำการตรวจวินิจฉัยได้โดยการเอกซ์เรย์กลืนแป้ง อัลตราซาวน์ และการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ทั้งนี้การรักษาในแต่ละรายจะขึ้นกับอาการและผลการวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทางยา หรือแม้แต่การผ่าตัด ดังนั้นจึงควรดูแลสัตว์เลี้ยงของเราอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในบางรายอาจพบอาการวิกฤติและถึงขั้นเสียชีวิตก็มีค่ะ