“ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย อยากรู้จังเลยว่า ชีโร่ เป็นอะไรกันน้า”

11350 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย อยากรู้จังเลยว่า ชีโร่ เป็นอะไรกันน้า”

ประวัติและข้อมูลสัตว์ป่วย

ประวัติสัตว์ป่วย  แมว ชื่อ ชีโร่  เพศ เมีย อายุประมาณ 3 ปี  ต้องการมาอาบน้ำและตัดขน แมวมีอาการเจ็บตาด้านซ้าย มีน้ำมูกเขียวข้น จาม และ เหมือนสะบัดหูตลอดเวลา  เจ้าของไม่ได้สังเกตุอาการ ไม่ทราบว่าเป็นมาตั้งแต่เมื่อใด ส่วนวัคซีนทำครบถ้วน

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

หลังการตรวจร่างกายพบว่าเสียงปอดชื้น ผิดปกติ มีจามและมีน้ำมูกเขียวข้น ตาด้านซ้ายหลังการย้อมสีไม่พบแผลหลุมแต่อย่างใด ลักษณะเยื่อตาขาวอักเสบ ทำการตรวจเลือดพบภาวะเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ สงสัยการอักเสบติดเชื้อ เนื่องมาจากหวัดแมว เปิดช่องปากดูไม่พบมีแผลในช่องปากหรือเงือกอักเสบแต่อย่างใด ส่วนอาการสะบัดหู เก็บตัวอย่างจากช่องหูไปตรวจและย้อมสี ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบว่ามียีสต์อยู่ในช่องหู ทั้งสองข้าง ทำให้ช่องหูอักเสบ และมีอาการคัน สะบัดหัวบ่อย ๆ

การรักษา

หวัดแมวเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดแมวหลากหลายชนิด การรักษาจะให้การรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง เจ้าชิโร่พบน้ำมูกมีสีเหลืองข้น บ่งบอกถึงมีภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน การรักษาให้จ่ายยาปฏิชีวนะ เพื่อคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ยาลดน้ำมูกช่วยทำให้น้ำมูกที่ข้นละลาย และกลุ่มยาลดอักเสบเพื่อลดการอักเสบที่ตลอดทางเดินหายใจ มีการนัดดมยาทุกวันเพื่อช่วยให้ละอองฝอยของยาดมชะล้างและทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น มีการจ่ายยาปฎิชีวนะหยอดตาเฉพาะที่ เพื่อคุมการติดเชื้อที่ดวงตา

หลังการรักษากินยาและ ดมยา 3 วันพบว่าแมวมีอาการดีขึ้น ไม่พบน้ำมูกสีเหลืองข้น  การจามลดลง  การหายใจดีขึ้น และตาที่เจ็บดูดีขึ้นมาก การทานอาหารดูมีความอยากอาหารมากขึ้น ทานได้เยอะขึ้น ให้เจ้าของป้อนยาต่อที่บ้านอีก 1 สัปดาห์เพื่อเคลียร์การติดเชื้อ 

                ปัญหาเรื่องหูอักเสบ (otitis)ถ้าหูสกปรกมากให้เจ้าของเช็ดหูด้วยน้ำยาเช็ดหูก่อน และหยอดยาหยอดหูวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น นัดตรวจอารซ้ำทุก 1-2 สัปดาห์

เกร็ดความรู้

หวัดแมวเกิดจากเชื้อไวรัส Feline Calicivirus (FCV) และ Feline Herpesvirus (FHV) อาการที่สามารถสังเกตุเห็นได้ คือ มีน้ำมูก ขี้ตาเฉาะ ไอ จาม เบื่ออาหาร เจ็บตา มีแผลที่กระจกตา  มีแผลในช่องปากหรือลิ้น มีไข้ ซึม  โรคนี้สามารถลดความรุนแรงของโรคได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน และกระตุ้นวัคซีนเป็นประจำทุก ๆ ปี โรคนี้การแพร่กระจายจะแพร่ไปตามอากาศ และติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพบว่าถ้าโรคนี้เกิดกับลูกแมวหรือแมวที่ไม่ได้ทำวัคซีนจะมีความรุนแรงถึงอาจทำให้เสียชีวิตได้  และแมวที่เป็นโรคควรแยกเลี้ยงจากแมวตัวอื่น ๆ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้