4329 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อมูลและประวัติสัตว์ป่วย
สุนัข ชื่อ ปีใหม่ พันธ์ French Bulldog อายุ 6 เดือน เจ้าของพาน้องปีใหม่มาปรึกษา เนื่องจากเห็นว่าที่ใบหน้ามีลักษณะเป็นมันเยิ้ม พยายามเช็ดทำความสะอาดให้ แต่ก็กลับมาเป็นอีก จากการซักประวัติพบว่าลักษณะที่เป็น เจ้าของเห็นมาประมาณ 1 สัปดาห์แล้วที่พบว่าสุนัขมีอาการคัน พยายามเอาหน้าไปถูกับผ้าหรือที่นอน ส่วนอาการอื่นๆปกติดี และทำวัคซีนครบ
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
จากการตรวจเบื้องต้นบริเวณรอบดวงตาและข้างจมูกมีลักษณะเยิ้มแฉะ และมีภาวะขนร่วง ผิวหนังบริเวณดังกล่าวแดงมากกว่าปกติ จึงทำการเก็บตัวอย่างเซลล์ผิวหนังมาตรวจส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบว่า มีไรขี้เรื้อนเปียกและแบคทีเรียปริมาณมากผิดปกติ จึงวินิจฉัยได้ว่า น้องปีใหม่มีภาวะผิวหนังอักเสบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของไรขี้เรื้อนเปียก
การรักษา
การรักษาประกอบไปด้วย 4 ทางหลักร่วมกัน
1. ให้ยารักษาไรขี้เรื้อนเพื่อระงับการเจริญเติบโตของไรขี้เรื้อนเปียก ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมปริมาณเชื้อแบคทีเรีย ยาลดอาการคัน ยาบำรุงขน และยาปรับสมดุลระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย
2. หยดหลังด้วยยาป้องกันไรขี้เรื้อนเป็นประจำทุกสองสัปดาห์
3. แชมพูยาสำหรับฟอกอาบ เพื่อช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียและไรขี้เรื้อนเปียก
4. ใส่ลำโพง ป้องกันการเกา เพื่อไม่ให้วิการที่ผิวหนังเกิดการอักเสบมากขึ้น
สำหรับน้องปีใหม่ เจ้าของสามารถป้อนยาได้ อาบน้ำด้วยแชมพูยาเป็นประจำ รวมถึงพามาพบสัตวแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการนัดหมาย ในที่สุดน้องปีใหม่ก็กลับมาเป็นปกติ ไม่พบมีการอักเสบของผิวหนังและไม่พบไรขี้เรื้อนเปียกแล้ว
เกร็ดความรู้
ไรขี้เรื้อนเปียกหรือขี้เรื้อนขุมขน เป็นชนิด Demodex spp. ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอยู่บนผิวหนังสุนัขอยู่แล้ว ผิวหนังสุนัขที่พบเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนของไรขี้เรื้อนเปียกมากกว่าปกตินั้น เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ พันธุกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ความเครียด สภาพแวดล้อม ในสุนัขที่อายุน้อยมักเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันไม่สมดุลหรือเกิดจากการติดจากแม่สุนัขมาก่อนอย่างเช่นน้องปีใหม่ ส่วนไร้ขี้เรื้อนเปียกที่พบในสุนัขอายุมากนั้น อาจเป็นผลตามมาจากภาวะโรคอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุโรคต้นกำเนิดที่แท้จริง
การรักษาไรขี้เรื้อนเปียกนั้น ต้องใช้ระยะเวลานาน และยังต้องมีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 เดือน อีกทั้งเจ้าของยังต้องมีวินัยในการป้อนยา อาบน้ำ และพามาพบสัตวแพทย์เป็นประจำ การรักษาจึงจะประสบผลสำเร็จได้