8395 จำนวนผู้เข้าชม |
น้องกะทิ สุนัขเพศเมีย พันธุ์ผสม อายุ 1 ปี มาโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทด้วยอาการแท้งลูก และมีเลือดออกจากอวัยวะเพศเป็นเวลา 3 วันก่อนมาหาสัตวแพทย์ สุนัขไม่มีแรง เจ้าของสงสัยว่าจะมีลูกคาอยู่ในท้อง เคยไปรักษาที่คลินิกก่อนหน้าที่จะมาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นพยาธิในเม็ดเลือด และกินยาปฏิชีวนะอยู่ ตรวจร่างกายแล้วพบว่ากะทินอนไม่มีแรง สีเยื่อเมือกซีดขาว หายใจเร็ว เสียงหัวใจผิดปกติ มีจุดเลือดออกทั่วร่างกาย มีเลือดไหลออกจากอวัยวะเพศตลอดเวลา ตามตัวมีเห็บ เจาะเลือดเพื่อส่งตรวจแล้วพบว่าเลือดจางมาก ค่าเม็ดเลือดแดงเหลืออยู่แค่ 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสุนัขปกติจะต้องมีค่าเม็ดเลือดแดงมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หมอจึงต้องให้กะทิดมออกซิเจน และทำการถ่ายเลือดให้กะทิโดยทันที ซึ่งการถ่ายเลือดจะต้องทำการหาเลือดที่สามารถเข้ากับเลือดของกะทิได้ จึงต้องทำการตรวจเลือดก่อนที่จะทำการถ่ายเลือดทุกครั้ง และถึงแม้ว่าจะใช้การตรวจเลือดเบื้องต้นจะพบว่าเลือดสามารถถ่ายให้กันได้ แต่ยังมีโอกาสหลังจากถ่ายเลือดให้แล้วจะมีอาการแพ้เลือดหลังจากถ่ายเสร็จก็ได้ อาการแพ้เลือดสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหลังถ่ายเลือดหรือหลังจากถ่ายเลือดเป็นสัปดาห์แล้วก็มีโอกาสแพ้เลือดได้ กะทิมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากได้รับการถ่ายเลือด กินอาหารได้ปกติ ไม่มีอาการแพ้เลือด เม็ดเลือดแดงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกลับบ้านได้หลังจากอยู่โรงพยาบาล 4 วัน แต่กะทิยังคงต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อพยาธิในเม็ดเลือดต่ออีกเป็นเวลา 1 เดือน และได้รับยากดภูมิคุ้มกันเนื่องจากตรวจพบมีภูมิคุ้มกันบางส่วนทำลายเม็ดเลือดแดงของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจากโรคพยาธิในเม็ดเลือดที่กะทิเป็นอยู่นั่นเอง
โรคพยาธิในเม็ดเลือดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการกำจัดเห็บซึ่งเป็นพาหะของโรคนี้ โดยการให้ยาป้องกันเห็บ ซึ่งมีให้เจ้าของเลือกป้องกันได้หลายรูปแบบแล้วแต่ความสะดวกของเจ้าของ พฤติกรรมการเลี้ยงสุนัข หรือพื้นที่ที่อยู่อาศัยของสุนัข ยาป้องกันเห็บมีทั้งแบบหยดหลัง อาบน้ำ ฉีดใต้ผิวหนัง ใส่ปลอกคอ หรือการสเปรย์พ่นบนตัว โดยจะเลือกใช้แบบไหนนั้นสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ได้ เพื่อการป้องกันเห็บอย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยานั้น
สพ.ญ. เมธาวี สิงหบุตร