9109 จำนวนผู้เข้าชม |
ชื่อสัตว์เลี้ยง: เทรเชอร์ ชนิด: สุนัข พันธุ์: Labrador Retriever อายุ: 27 วัน เพศ: ผู้
ประวัติ
น้องเทรชเชอร์ป่วยและเข้าพักรักษาตัวโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่งตั้งแต่หลังคลอดได้เพียง 2 วัน โดยที่เพื่อนตัวอื่นๆในครอกเดียวกันค่อยๆทยอยเสียชีวิตทั้งหมด จนเทรชเชอร์อายุ 27 วัน ได้ถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท สาขาพระราม 9 ด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
การตรวจและการวินิจฉัยเพิ่มเติม
เทรชเชอร์ตัวเล็กมากกกกในวันที่มาถึงโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท อายุ 27 วันมีน้ำหนักตัวแค่ 265 กรัมเท่านั้น ตาอักเสบเป็นฝ้าสีฟ้าขุ่นทั่วทั้งดวงตาและมองไม่เห็น พัฒนาการน้อยมากถ้าเทียบกับอายุ ยังไม่สามารถลุกเดินเองได้ ไม่สามารถกินอาหารเองได้ ยังคงต้องช่วยกระตุ้นการขับถ่าย มีตุ่มหนองขึ้นตามผิวหนังใต้ท้อง มีน้ำมูกใสๆ คุณหมอจึงทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง และทำการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยต่อเพิ่มเติม และตรวจหาพยาธิเม็ดเลือดด้วย ซึ่งผลการตรวจพบว่า น้องเทรชเชอร์ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดชนิด Ehrlichia Canis ซึ่งเชื้อชนิดนี้สามารถติดได้โดยการโดนเห็บที่มีเชื้อชนิดนี้กัดและปล่อยเชื้อสู่กระแสเลือดในร่างกาย
การรักษา
เทรชเชอร์พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท ตั้งแต่วันนั้นโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดป้อนนมป้อนอาหาร และฝึกพัฒนาการของน้องเทรชเชอร์ หลังจากได้รับการรักษา เทรชเชอร์แข็งแรงขึ้นมาก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สีตากลับมาเป็นปกติและเริ่มมีการมองเห็น พัฒนาการอื่นๆเริ่มดีขึ้นตามลำดับ สามารถกินอาหารเองได้ ขับถ่ายเอง และลุกเดินเองได้ คุณหมอทำการตรวจเลือดน้องเทรชเชอร์อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษา จนค่าเลือดกลับมาเป็นปกติ และเสร็จสิ้นการรักษาโดยตรวจไม่พบพยาธิเม็ดเลือดที่ 4 สัปดาห์หลักจากเริ่มทำการรักษา
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับพยาธิเม็ดเลือด
- พยาธิเม็ดเลือด เป็นโรคติดต่อที่มีเห็บเป็นภาหะ สามารถติดสุนัขได้ทุกเพศ ทุกพันธุ์ และทุกช่วงอายุ โรคนี้สามารถทำให้สุนัขป่วยและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในลูกสุนัข และสุนัขที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี
- อาการส่วนมากที่พบ ได้แก่ สุนัขมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เยื่อเมือกซีด โลหิตจาง บางตัวอาจเกิดภาวะดีซ่าน มีเลือดกำเดาออกได้
- การวินิจฉัยโรคพยาธิเม็ดเลือด ต้องทำการตรวจจากตัวอย่างเลือดเท่านั้น โดยปัจจุบันมีชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อช่วยในการวินิจฉัย โดยแปรผลร่วมกับผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดด้วย
- โรคนี้สามารถหายขาดได้ (ยกเว้นเชื้อพยาธิเม็ดเลือดที่ชื่อ Hepatozoon ไม่หายขาด) โดยจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือนหรือมากกว่า หากได้รับยาไม่ต่อเนื่องสามารถกลับมาแสดงอาการใหม่ได้ และจะต้องทำการตรวจเลือดซ้ำอย่างสม่ำเสมอในระหว่างที่ทำการรักษา
- วิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือการป้องกันเห็บหมัด ดังนั้นควรจะทำการป้องกันเห็บหมัดอย่างสม่ำเสมอด้วยเพื่อลดอากาศการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด