26323 Views |
"บุญรอด เด็กน้อยผู้ร้องไม่หยุด"
บุญรอด เป็นลูกสุนัขอายุไม่ถึง 2 เดือน เจ้าของพามาด้วยอาการ ร้องโวยวายไม่สามารถหยุดร้องได้ เจ้าของสงสัยว่าสุนัขตัวใหญ่ในบ้านน่าจะกัดลูกสุนัข มีลูกสุนัขในคอกเดียวกันอีกตัวพบว่าเสียชีวิตไปแล้ว จึงรีบพาอีกตัวมาโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท
การตรวจร่ายกาย และการวินิจฉัย
บุญรอด เข้ามาในห้องฉุกเฉินด้วยอาการร้องไม่รู้ตัว ก่อนหน้านี้ได้ให้ยาจากคลินิกมาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น สัตวแพทย์จึงพิจารณาให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือด และทำการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อหาร่องรอยบาดแผล จากประวัติน่าจะถูกสุนัขตัวใหญ่ทำร้าย การตรวจร่างกายพบว่า บุญรอดยังร้องเป็นบางครั้ง หากมีการขยับหรือพลิกตัวสุนัขจะร้องเหมือนเจ็บปวดรุนแรง ไม่สามารถยืนทรงตัวได้ นอนมีอาการขาแข็ง และคอแหงนเป็นบางครั้ง มีเพียงบาดแผลถลอกเล็กน้อยบริเวณศีรษะ การเต้นของหัวใจค่อนข้างเร็ว สีเหงือก เสียงปอด หัวใจ และสัญญาณชีพยังปกติดี ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย จากนั้นจึงเก็บตัวอย่างเลือด พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีภาวะเลือดจางเล็กน้อย (แต่อยู่ในเกณฑ์ปกติสำหรับลูกสุนัข)
บุญรอดยังอยู่ในภาวะที่พอเคลื่อนย้ายได้ สัตวแพทย์จึงพาน้องบุญรอดไปเอ็กซ์เรย์กะโหลก และกระดูกสันหลังส่วนคอ รวมถึงกระดูกท่อนอื่น ๆ ว่าหักหรือไม่ พบว่า ยังไม่พบชิ้นส่วนใด เคลื่อนและหัก จากนั้นจึงย้ายบุญรอดเข้าห้องพักสัตว์ป่วยวิกฤต สัตวแพทย์วินิจฉัยว่า บุญรอดน่าจะอยู่ในภาวะสมองส่วนกลางกระทบกระเทือน และอาการมีอาการสมองบวม ซึ่งอาจสงสัยได้จากอุบัติเหตุ หรือมีโรคที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดของลูกสุนัข แล้วแสดงอาการหลังเกิดอุบัติเหตุได้
สัตวแพทย์ตัดสินใจให้ยาลดอาการสมองบวม ยาบำรุงประสาท และยาดคุมอาการเจ็บปวด และบันทึกคะแนนการตอบสนองทางประสาทและสมองทุก 4-6 ชั่วโมง หลังให้การรักษา 3 วัน บุญรอดฟื้นตัวขึ้นดี และร้องลดลง เริ่มรู้สึกตัวได้มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถทรงตัวได้ สัตวแพทย์ด้านระบบประสาทพิจารณาให้ยาต่อเนื่องอีก 2 วัน แล้วดูการตอบสนองต่อเนื่อง จากนั้นจึงจัดการให้กรงของบุญรอดมีเบาะปูรองให้นุ่ม เพื่อป้องกันการกระแทก มีการช่วยพลิกตัววันละ 3-4 เวลา มีการป้อนน้ำและอาหารอ่อนหลังจาก สัตวแพทย์ประเมินการตอบสนองทางประสาท ว่าสุนัขสามารถกลืนอาหารได้
เมื่อผ่านไป 5 วัน บุญรอดมีอาการรู้สึกตัวมากขึ้น สามารถทานอาหารได้เอง และสามารถนั่งตั้งตัวได้ แต่ไม่สามารถยืนหรือเดินได้ ทีมสัตวแพทย์จึงพิจารณาวินิจฉัยต่อ ด้วยการทำ CT scan เพื่อดูโครงสร้างกะโหลกว่ามีการร้าวหรือแตกหรือไม่ และวินิจฉัยน้ำในโพรงสมอง ร่วมด้วย ผล CT scan ไม่พบกะโหลกร้าว แต่พบภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ เรียกภาวะนี้ว่า “Hydrocephalus” สัตวแพทย์จึงทำการรักษาทางยาต่อเนื่อง จนกระทั่ง 2 สัปดาห์ บุญรอดสามารถยืนและเดินได้ แต่ยังมีอาการเดินเซบ้าง บุญรอดรู้สึกตัวมากขึ้น และช่วยเหลือตัวเองได้ จึงพิจารณาให้กลับบ้าน แล้วนัดกลับมาพบคลินิกระบบประสาทเพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
เกร็ดความรู้จากคุณหมอ
วันนี้หมอจะมาให้ความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับโรคโพรงสมองคั่งน้ำ หรือโรคหัวบาตร (Hydrocephalus) แบบเข้าใจง่าย ๆ
กะโหลก คือ กระดูกที่ห่อหุ้มอวัยวะที่สำคัญโดยภายในกะโหลกประกอบไปด้วย เนื้อสมอง โพรงสมอง ในโพรงสมองเป็นช่องว่างที่เป็นแหล่งสะสมของน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเนื้อสมองและช่วยรองรับแรงที่มากระทบกระแทกกับสมอง ไหลเวียนในกะโหลกแล้วเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำ
สาเหตุของการเกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เกิดจากการสร้างมากเกินไป มีการอุดตันทางเดินน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง หรือเกิดจากการดูดซึมน้ำหล่อสมอง ไขสันหลังที่ลดลง โดยสามารถเกิดได้ทั้งในลูกสัตว์ หรือสัตว์โต ปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิด หากพบในลูกสัตว์ อาจเป็นอาการผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การสร้างตัวอ่อนผิดปกติ หากพบในสัตว์โต อาจเกิดจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อ ภาวะเลือดออกในสมอง หรือมีเนื้องอก เป็นต้น
การเกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ทำให้เกิดความดันในกะโหลกที่เพิ่มขึ้น มีผลทำให้สัตว์เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท ทรงตัวไม่ได้ มีอาการเกิดภาพหลอนหรือภาพซ้อน ปวดศีรษะ อาจทำให้เกิดอาการชัก และอาจร้ายแรงจนเกิดอาการหมดสติ หายใจผิดปกติ รุนแรงอันตรายแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข หรือวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
การรักษา ในทางสัตวแพทย์ การรรักษาที่ประคับประคองอาการทางระบบประสาท อาศัยการรรักษาทางยาเป็นหลัก อีกวิธีคือการผ่าตัดสอดท่อระบายน้ำหล่อสมอง ยังค่อยไม่ประสบความสำเร็จในสัตว์เท่าไหร่ ทั้งนี้ ขึ้นกับสาเหตุการเกิดและช่วงอายุสัตว์เป็นสำคัญ
เรื่องและภาพโดย
สพญ. สุพัตรา จันทร์โฉม
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา