ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้านศัลยกรรม

28363 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้านศัลยกรรม

โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทมีความพร้อมและความสามารถในการให้บริการทางด้านการผ่าตัดศัลยกรรมทั่วไป โดยมีทีมสัตวแพทย์ศัลยกรรมที่เชี่ยวชาญ ทำการผ่าตัดโดยใช้เครื่องดมยาสลบ เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องเฝ้าระวังติดตามผลขณะที่สัตว์อยู่ในภาวะสลบที่มีมาตรฐานและทันสมัย

 

ขอบเขตของการให้บริการ
1. ศัลยกรรมเนื้อเยื่ออ่อน
    1.1 ผ่าตัดทำหมันทั่วไป
        - การผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวเพศผู้และเพศเมีย
        - การผ่าตัดทำหมันในสัตว์เลี้ยงพิเศษ (กระต่าย)
    1.2 ผ่าตัดเนื้องอก เช่น เนื้องอกเต้านม เนื้องอกผิวหนัง เนื้องอกระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น
    1.3 ผ่าตัดระบบทางเดินอาหารและช่องท้อง เช่น ผ่าตัดตัดต่อลำไส้ การผ่าตัดเพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกจากทาง               เดินอาหาร ผ่าตัดแก้ไขภาวะลำไส้กลืนกัน ผ่าตัดแก้ไขภาวะไส้เลื่อน ผ่าตัดแก้ไขกระเพาะอาหารบิด เป็นต้น
    1.4 ผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ผ่าตัดเพื่อนำก้อนนิ่วออกจากท่อนำปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
    1.5 ผ่าตัดระบบทางเดินสืบพันธุ์ เช่น ผ่าคลอด ผ่าตัดแก้ไขมดลูกอักเสบ เป็นต้น
    1.6 ผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดควักลูกตา แก้ไขภาวะลูกตาทะลัก ผ่าตัดรักษาแผลหลุมที่กระจกตา เป็นต้น
    1.7 เย็บแผลทั่วไป และอื่นๆ เช่น ผ่าฝี ผ่าตัดถุงน้ำ(ซีสต์)ที่ผิวหนัง การจี้หูดหรือก้อนเนื้อ
           ขนาดเล็กบนผิวหนัง  โดยวิธีจี้ร้อน หรือจี้เย็น ผ่าตัดแก้ไขภาวะหนังตาม้วนเข้าหรือม้วนออก
 
2. ศัลยกรรมกระดูก
    2.1 ผ่าตัดแก้ไขกระดูกหัก โดยการผูกลวด (wiring), ใส่อุปกรณ์แกนดามเหล็ก (pin), แผ่นดามเหล็กและสกรู (plate &             screw), โครงยึดตรึงกระดูกภายนอก (external fixation)
    2.2 ผ่าตัดแก้ไขเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าขาด
    2.3 ผ่าตัดแก้ไขกระดูกสะบ้าเคลื่อนหลุด
    2.4 แก้ไขข้อสะโพกเคลื่อนหลุด


วิสัญญีและการจัดการความเจ็บปวดหลังผ่าตัด
แผนกวิสัญญีเป็นส่วนหนึ่งของการผ่าตัดที่มีความสำคัญในการดูแลสัตว์ป่วยตลอดการผ่าตัด เนื่องจากเป็นการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไปหรือการวางยาสลบเพื่อทำให้สัตว์ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกเจ็บปวดและกล้ามเนื้อคลายตัวเพื่อทำให้สัตวแพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้ โดยจะต้องคอยดูแลระบบต่างๆของสัตว์ป่วยระหว่างที่ได้รับการผ่าตัด เช่น ระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบปัสสาวะ และระบบอื่นๆของร่างกาย โดยทั่วไปการวางยาสลบสัตว์มีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ
 
1. ก่อนผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดและการให้ยาระงับความรู้สึกจะกระทบต่อร่างกายของสัตว์ป่วย ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องทราบประวัติและข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพของสัตว์ป่วยทั้งหมด รวมไปถึงผลตรวจเลือด ค่าเคมีต่างๆในเลือด และผลตรวจจากห้องปฎิบัติการ เพื่อนำมาประมวลและใช้ในการตัดสินใจในการเลือกวิธีการให้ยาระงับความรู้สึก เพื่อให้เจ้าของสัตว์เข้าใจถึงความเสี่ยงและมีความพร้อมในการนำสัตว์ป่วยเข้ารับการผ่าตัดและให้ยาระงับความรู้สึก รวมถึงการเตรียมตัวงดน้ำและอาหารสัตว์อย่างน้อย 10 ชม. ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดด้วย
 
2. ระหว่างการผ่าตัด สัตวแพทย์อาจมีการให้ยาซึมกับสัตว์โดยวิธีการฉีดเข้ากล้ามหรือทางหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นจะเริ่มให้ยานำสลบและทำการสอดท่อช่วยหายใจ เพื่อให้ยาสลบและช่วยในการหายใจ โดยปริมาณยาสลบและออกซิเจนจะถูกควบคุมผ่านเครื่องดมยาสลบ รวมถึงมีการใช้อุปกรณ์ติดตามระบบการทำงานของร่างกายซึ่งจะเป็นตัวบอกถึงสภาพระบบต่างๆของร่างกายสัตว์ การตอบสนองของร่างกายสัตว์ต่อยา ระดับความลึกของการสลบ อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีการตั้งระบบเตือนภัยเมื่อเกิดความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้สัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์สามารถทราบเหตุการณ์อย่างทันท่วงที เมื่อการผ่าตัดใกล้เสร็จสิ้นสัตวแพทย์จะทำการลดระดับยาสลบ เพื่อให้สัตว์ป่วยเริ่มรู้สึกตัว
3. หลังการผ่าตัด สัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์จะดูแลสัตว์ป่วยต่อในห้องพักฟื้น ดูแลเรื่องความเจ็บปวดหลังผ่าตัด และป้องกันหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด เมื่อสัตว์ป่วยฟื้นตัว สัญญาณชีพคงที่และได้รับการประเมินว่าแข็งแรงพอ จึงส่งตัวสัตว์ป่วยกลับบ้าน หรือให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสัตว์ต่อตามสมควร โดยปกติแล้วสัตว์ป่วยจะได้รับการสังเกตอาการในห้องฟักฟื้นหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่วโมง


 
นอกจากกระบวนการผ่าตัดที่มีมาตรฐานแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการควบคุมความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ตลอดจนการเลือกชนิดยาสลบที่เหมาะสม เพื่อให้สัตว์ที่ได้รับการผ่าตัดปลอดภัยที่สุด และเกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้