150 จำนวนผู้เข้าชม |
น้องแมวชื่อ สายลม เป็นแมวจรมาก่อน อายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ เจ้าของเก็บมาเลี้ยงเพราะเห็นนอนตากฝน มาเจอคุณหมอวินตอนกลางคืนเวลาตี 3 (สาขาพระราม 9) มาด้วยอาการซึม อยู่ดีๆก็ไม่มีแรง ไม่ค่อยกินอาหาร มาถึงห้องตรวจ อาการโดยรวมของน้องไม่ค่อยลุกเดิน นอนนิ่งๆ แต่ยังส่งเสียงร้องได้บ้าง ตรวจร่างกายพบอุณหภูมิน้องต่ำกว่าปกติอยู่ที่ 96.2 F ไม่มีน้ำมูก เสียงปอด เสียงหัวใจปกติดี ไม่ได้ดูแห้งน้ำ คุณหมอขอเจ้าของตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจเชื้อไวรัสระบบทางเดินอาหาร พบว่าระดับน้ำในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่พบเชื้อไวรัส จึงขอ x-ray ดู พบว่าน้องมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น จึงจ่ายยาลดแก๊สในระบบทางเดินอาหารให้ กกอุ่นให้ก่อนในห้องตรวจ และแนะนำให้เจ้าของกลับบ้านไป ลดอุณหภูมิแอร์ หรือให้อยู่ห้องที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไป หรือกกอุ่น เพราะสอบถามเพิ่มเติมหลังจากเจ้าของพาน้องเข้ามาอยู่ในบ้านส่วนใหญ่ให้น้องนอนในห้องแอร์ ซึ่งอากาศจะค่อนข้างหนาว หลังจากนั้นโทรติดตามอาการพบว่าน้องร่าเริงดี วิ่งเล่นได้ปกติ ไม่พบอาการซึมหรือไม่มีแรงแล้ว
3 สิ่งหลักที่มักจะทำให้ลูกสัตว์แรกเกิดป่วย
1. ภาวะอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) เป็นภาวะที่ร่างกายของลูกสัตว์เด็กยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิลดลง เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลง ทำให้อวัยวะบางส่วนทำงานผิดปกติไป เช่น ลำไส้จะเคลื่อนไหวได้ช้าลง โดยปกติแล้วลูกสัตว์จะกินนมเป็นอาหารหลัก นมที่กินจะเกิดการหมักย่อยและผลิตแก๊สส่งผลทำให้เกิดอาการท้องอืดตามมาได้ (Bloat) ซึ่งภาวะท้องอืดก็นำมาสู่อันตรายได้เหมือนกัน กล่าวคือเมื่อมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะขยายตัวดันกระบังลมและช่องอกทำให้สัตว์หายใจไม่สะดวก โดยปกติแล้วอุณหภูมิของลูกสัตว์จะอยู่ที่ 97-101 ฟาเรนไฮต์ ถ้าหากพบลูกสัตว์เด็กที่มีอุณภูมิต่ำกว่าปกติควรที่จะกกอุ่นค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย โดยไม่ควรเกิน 2 องศาฟาเรนไฮต์ต่อชั่วโมง ถ้าหากมีการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิร่างกายที่เร็วมากเกินไปจะทำให้อวัยวะทำงานล้มเหลวได้ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพิ่มอุณหภูมิส่วนใหญ่จะใช้เป็น โคมไฟกกอุ่น ถุงน้ำร้อน เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นๆ และต้องหมั่นคอยเช็กอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ
2. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypoglycemia) ลูกสัตว์เด็กในช่วงแรกยังมีการพัฒนาของอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์จึงทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำตาลไว้ใช้เพื่อเป็นพลังงานสำหรับร่างกายได้ โดยลูกสัตว์เด็กจะแสดงอาการ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น อาจจะร้ายแรงไปจนถึงชักได้
3. ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เป็นอีกหนึ่งภาวะที่สามารถเกิดได้ในลูกสัตว์เด็ก เนื่องจากในระยะแรกการทำงานของไตที่ทำหน้าที่ดูดกลับน้ำและยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ รวมถึงพื้นที่ผิวของลูกสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ส่งผลต่อการสูญเสียความร้อนทำให้เกิดการสูญเสียของน้ำออกนอกร่างกาย ยังไม่รวมถึงสาเหตุอื่นๆที่ทำให้สูญเสียน้ำได้เช่น อึเหลว ได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ ดังนั้นสามารถสังเกตได้โดย การดูสีของปัสสาวะ โดยในลูกสัตว์เด็กจะมีสีค่อนข้างใสรวมถึงดูความชุ่มชื้นของเยื่อเมือกควรมีสีชมพู ชุ่มชื้น ไม่แห้ง
Ref; Textbook; Small animal pediatrics (The first 12 months of Life)