ดูแลสุนัขสูงวัย มีอะไรบ้าง

1086 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดูแลสุนัขสูงวัย มีอะไรบ้าง

บทความจาก..หมอไอเว็ท
ดูแลสุนัขสูงวัย มีอะไรบ้าง
ปัจจุบันนี้สุนัขที่เจ้าของหลายๆ ท่านเลี้ยงไว้ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เปรียบเสมือนสมาชิกของครอบครัวเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่เป็นเพียงสุนัขที่เลี้ยงไว้แค่เฝ้าบ้านดังเช่นในสมัยก่อนแล้ว การเลี้ยงสุนัขสักตัวในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องเอาใจใส่ เบื้องต้นได้แก่การดูแลเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย พาไปทำวัคซีน และป้องกันเห็บหมัดถ่ายพยาธิเป็นประจำ ตลอดจนพาไปทำหมันที่ไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันไม่ให้มีลูกแต่ยังเป็นการลดโอกาสในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์อีกด้วย การดูแลนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ยังเป็นสุนัขเด็กจนสุนัขโต และเมื่อวันหนึ่งที่สุนัขอายุเยอะมากขึ้น การดูแลก็ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับเจ้าของที่มีสุนัขโต และกำลังจะก้าวข้ามเป็นสุนัขสูงวัย จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง มาเรียนรู้ไปด้วยกันค่ะ
เมื่อไหร่ที่จะจัดว่าสุนัขเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้ว? คำตอบก็คือไม่เท่ากันในแต่ละสายพันธุ์ โดยสุนัขพันธุ์เล็ก มักเข้าสู่ช่วงสูงวัยช้ากว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยที่ค่าเฉลี่ยของสุนัขที่จัดว่าสูงวัยแล้วอยู่ในช่วง 7-8 ปีขึ้นไป สุนัขจะเริ่มมีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป โดยจะไม่ได้เปลี่ยนไปในทันที แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จนบางที่อาจจะไม่ได้สังเกตุเห็นด้วยซ้ำ รู้ตัวอีกทีก็พบว่าไม่เหมือนเดิมแล้ว เช่น ทำกิจกรรมน้อยลง เล่นน้อยลง เลือกกินมากขึ้น ขี้ระแวงมากขึ้น เป็นต้น ต่างๆ เหล่านี้หลายอย่างมีสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลตามมาจากความเสื่อมของร่างกายและอวัยวะ เช่น ที่ทำกิจกรรมน้อยลงหรือเล่นน้อยลง อาจเพราะเริ่มมีปัญหาเรื่องข้อและกระดูก ทำให้ลุกยากขึ้น หรือเจ็บปวดเวลาวิ่งเล่นแม้กระทั่งแค่เดินขึ้นลงบันไดหรือพื้นต่างระดับ โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินก็จะยิ่งเห็นชัด ในรายที่มีปัญหาเรื่องหัวใจ และหลอดเลือด อาจพบมีอาการเหนื่อยง่ายขึ้น หอบหายใจเมื่อต้องเดินหรือออกกำลัง สำหรับเรื่องการกิน สุนัขบางตัวที่เคยกินเก่ง กินอร่อย แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาเรื่องช่องปากและฟัน ก็จะตามมาส่งผลทำให้เวลากินอาหารที่แข็งหรืออาหารเม็ดอาจจะไปกระทบเข้ากับบริเวณที่มีปัญหา ทำให้บางครั้งไม่อยากกิน บางครั้งกินเฉพาะตอนที่หิวจริงๆ หรือแม้กระทั่งกินๆไปแบบไม่เคี้ยว ส่งผลทำให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติตามมาด้วย สุนัขที่มีพฤติกรรมขี้ระแวงมากขึ้น ก็มักเป็นเพราะความไวในการรับความรู้สึกลดลง เช่นสายตาแย่ลง การรับกลิ่นหรือได้ยินไม่ดีเท่าสมัยก่อน ทำให้สุนัขเหล่านี้มักมีอาการตื่นกลัวได้ง่ายเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป
ดังนั้นแล้วตัวเจ้าของเอง จึงต้องคอยสังเกตุความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ และไม่เมินเฉยต่อสิ่งผิดปกติที่พบเพราะคิดว่าเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในสุนัขอายุเยอะ เพราะจะยิ่งเป็นการทำให้ภาวะโรคบางอย่างที่สามารถป้องกันและรักษาได้รุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถแก้ไขได้ หากที่บ้านเจ้าของมีสุนัขที่เข้าสู่ช่วงอายุเยอะแล้ว ลองมาเช็คกันดูว่า ได้ทำสิ่งเหล่านี้ครบแล้วหรือยัง
1. ค่อยๆปรับอาหารให้เหมาะสมตามช่วงอายุ โดยโภชนาการที่ดีในสุนัขแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน ขึ้นกับอายุ น้ำหนัก พันธุ์ และภาวะโรคพื้นฐานที่มีอยู่ ควรได้รับคำแนะนำในเรื่องการปรับอาหารกับสัตวแพทย์โดยตรง
2. ปรับที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัวและโรคพื้นฐานที่เป็น (ถ้ามี) เช่น หลีกเลี่ยงการให้สุนัขสูงวัยอยู่ในบริเวณที่พื้นลื่น หรือพื้นต่างระดับ สุนัขอายุเยอะหลายตัวมักลุกเองไม่ค่อยไหว อาจจะต้องมีชุดช่วยพยุงเพื่อให้ลุกและได้เดินบ้าง นอกจากนี้ควรปูรองบริเวณที่สุนัขนอนบ่อยๆให้นิ่ม ลดโอกาสเกิดแผลกดทับในสุนัขบางตัวที่นอนนานๆ จัดการเรื่องดูแลขับถ่ายและปัสสาวะอย่างเหมาะสม ลดโอกาสการเกิดแผลหรือโรคผิวหนังอันเกิดจากความอับชื้น
3. ตรวจสุขภาพ กับสัตวแพทย์อย่างน้อยทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการประเมินสุขภาพร่างกาย รายละเอียดในการตรวจสุขภาพสุนัขสูงวัย ได้แก่
ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ ตรวจคัดกรองโรคตา ตรวจสภาพผิวหนังและเส้นขน คลำตรวจต่อมน้ำเหลืองและก้อนเนื้อภายนอก ตรวจช่องปากประเมินสุขภาพเหงือกและฟัน คลำข้อกระดูกและเช็คระบบประสาทเบื้องต้น
ตรวจเลือด เพื่อดูค่าเม็ดเลือด ค่าบ่งชี้การงานของตับไต ค่าน้ำตาลในเลือด
ตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองโรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน
ตรวจหัวใจและความดันโลหิต ดูการทำงานของหัวใจด้วยวิธี Echocardiogram และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจซึ่งมักจะพบได้บ่อยในสุนัขอายุเยอะ
เอ็กซเรย์ เพื่อดูโครงสร้างของข้อและกระดูก คัดกรองโรคนิ่วบางชนิด รวมถึงสามารถคัดกรองโรคระบบทางเดินหายใจและหัวได้อีกด้วย
อัลตราซาวด์ เพื่อดูโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะภายใน ตลอดจนต่อมน้ำเหลืองและเนื้องอกในช่องท้อง เพราะบางราย การตรวจจากภายนอกหรือผลเลือดไม่สามารถระบุความผิดปกติที่แม่นยำได้มากเพียงพอ
หากตรวจแล้วพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสุนัขของท่าน ก็อย่าเพิ่งท้อใจไป การจัดการให้การรักษาที่เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัวภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ จะช่วยให้สุนัขบรรเทาความผิดปกตินั้นลงไปได้ เพื่อที่สุนัขที่ท่านรักเสมือนคนในครอบครัวจะได้อยู่กับท่านได้นานขึ้น หรือถ้าตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติอะไรเลย ก็จะได้รับคำแนะนำเรื่องการดูแลเพื่อที่จะได้ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของร่างกายสุนัขได้
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งนั้นไม่ยาก แต่การเลี้ยงสุนัขให้ดีและเหมาะสมนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและการเอาใจใส่เป็นอย่างมาก และเมื่อเลือกที่จะเลี้ยงสุนัขแล้วก็หมายถึงต้องรับผิดชอบชีวิตหนึ่งชีวิตไปตลอด แม้ว่าร่างกายอาจจะเสื่อมถอยลงไป สุนัขบางตัวอาจจะไม่น่ารักเหมือนเดิมแล้ว แต่เชื่อเถอะว่าสุนัขที่ท่านเลี้ยงนั้น ยังคงมองเห็นว่าเจ้าของของเค้าน่ารักที่สุด และยังคงรักเจ้าของไม่เคยเปลี่ยนไปเลย
บทความโดย
สพ.ญ. วรัญญา กิจสาสน
#10yearswithivet #iVETiKnow
#โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท #iVEThospital #โรงพยาบาลสัตว์24ชั่วโมง
----------------------------
โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เปิดบริการ 24 ชม.
ตอบทุกปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง..จากสัตวแพทย์โดยตรง
Line : @ivethospital >> http://bit.ly/2UHSsXK
Hotline : 085-244-7899
Website : www.ivethospital.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้