เห็บมาจากไหน?

30394 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เห็บมาจากไหน?

บทความจาก..หมอไอเว็ท
เห็บมาจากไหน?
เคยสงสัยกันมั้ย เมื่อสุนัขของเราป่วย แล้วสัตวแพทย์ตรวจวินิจฉัย ว่าน้องป่วยเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดที่ติดเชื้อมาจากเห็บ แต่เจ้าของเองก็ไม่เคยเจอเห็บบนตัวสัตว์เลี้ยงเลย แล้วน้องได้รับเชื้อหรือติดเห็บมาตอนไหนกัน
ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับเห็บเจ้าตัวต้นเหตุกันก่อน เห็บโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มเห็บแข็ง ( Hard Tick ) และ เห็บอ่อน ( Soft Tick ) โดยเห็บอ่อนเป็นเห็บขนาดเล็ก มักพบอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และมักจะอาศัยอยู่ในที่เดียวกับตัวสัตว์ เช่น คอกสัตว์ รังนก ซึ่งมีความสำคัญในสัตว์ปีกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเห็บแข็งนั้นจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายรูปไข่ มีเปลือกแข็ง ตัวเต็มวัยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวเมียเมื่อดูดเลือดอิ่มแล้ว ( Engorged female ) จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก ระยะตัวอ่อน ( Larva ) มีขา 3 คู่ ส่วนระยะตัวกลางวัย ( Nymph ) และระยะเต็มวัย ( Adult ) มีขา 4 คู่ และกลุ่มเห็บแข็ง จะมีพฤติกรรมชอบหลบซ่อน หรืออยู่อาศัยในบริเวณที่มืดและอับชื้น
วงจรชีวิตของเห็บแข็งโดยทั่วไป ตัวอ่อนมักจะรอให้สัตว์เป้าหมาย (host) ที่จะถูกดูดเลือด เป็นอาหารเดินผ่านแล้วค่อยเกาะติดตัวสัตว์และจากนั้นจะเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ ตามร่างกายสัตว์ เพื่อดูดเลือด เป็นอาหารและเมื่อดูดเลือดเสร็จ เห็บจะหลุดออกจากตัวสัตว์เพื่อไปอาศัยในสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ชอบเพื่อซ่อนตัวและใช้เวลาในการลอกคราบเพื่อพัฒนาเข้าสู่ระยะถัดไป จนเมื่อเห็บเข้าสู่ระยะเต็มวัยแล้วจะเกาะกับตัวสัตว์ที่ดูดเลือดเป็นอาหารอีกครั้ง โดยพบว่าเห็บตัวเต็มวัยเพศเมียเมื่อดูดเลือดเสร็จจะออกจากตัวสัตว์เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการวางไข่ ส่วนเห็บตัวเต็มวัยเพศผู้จะดูดเลือดและอยู่บนสัตว์ตัวเดิม และคอยหาเห็บตัวเต็มวัยเพศเมียเพื่อผสมพันธุ์ต่อไป
เห็บสุนัข หรือ Rhipicephalus sanguineus เป็นเห็บชนิดที่พบในสุนัขประเทศไทย มีชื่อทั่วไปว่า Brown dog tick มีวงจรชีวิตแบบ Three-host feeding strategy และเป็นพาหะสำคัญของโรคติดเชื้อ ทั้งชนิดที่เป็นโปรโตซัวและชนิดที่เป็นริกเกตเซีย ได้แก่ Babesia canis , Ehrlichia canis และ Hepatozoon canis โดยสุนัขจะได้รับเชื้อ Babesia canis และ Ehrlichia canis ผ่านทางน้ำลายของเห็บในขณะดูดเลือดสุนัข ในขณะที่เชื้อ Hepatozoon canis สุนัขจะได้รับเชื้อจากการกินเห็บที่มีเชื้อเข้าไปและที่สำคัญเชื้อพวกนี้สามารถถ่ายทอดเชื้อจากเห็บระยะเต็มวัยเพศเมียไปสู่รุ่นลูกได้ หรือสามารถถ่ายทอดเชื้อจากเห็บระยะนึงไปสู่อีกระยะถัดไปได้
ดังนั้นในเวลาที่สุนัข ของเราถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นพยาธิเม็ดเลือด แต่เจ้าของไม่ค่อยพบเห็บบนตัวน้องสุนัขเลยนั้นมีสาเหตุมาจากวงจรชีวิตของเห็บสุนัขนั้นเองที่ ไม่จำเป็นจะต้องอยู่บนตัวสุนัขตลอดเวลา โดยตัวสุนัขเองอาจได้รับเชื้อจากเห็บในระยะต่างๆ ที่เมื่อดูดเลือดเสร็จก็จะหลุดจากตัวสัตว์เลี้ยงไปหลบซ่อนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไป
Tip
ในการป้องกันและกำจัดเห็บหรือปรสิตภายนอกในตัวสัตว์เลี้ยง
หยดยาหรือป้อนยาป้องกันปรสิตภายนอกให้กับสัตว์เลี้ยงสม่ำเสมอ โดยสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ได้ตามความเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว ที่สำคัญคือ ซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตวแพทย์ตามคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ เท่านั้น ระวังสินค้าปลอม หรือสินค้าไม่ได้รับมาตรฐานที่มีขายในแอพออนไลน์ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
ทำความสะอาดแหล่งอยู่อาศัยร่วมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอเพื่อป้องกันปรสิตชนิดที่จะเข้าไปหลบซ่อนหรืออาศัยอยู่ และเพื่อป้องกันไม่ให้ปรสิตกลับไปติดกับตัวสัตว์เลี้ยง ซ้ำอีกต่อไป รวมถึงทำความสะอาดตามมุมอับของบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนและแพร่พันธุ์ปรสิตต่างๆ
ปฏิบัติตามโปรแกรมป้องกันปรสิตตามที่สัตวแพทย์ แนะนำอย่างเคร่งครัด ถึงแม้เจ้าของจะรู้สึกว่าบนตัวสัตว์เลี้ยงไม่พบปรสิตภายนอก หรือไม่เคยพบตามบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงก็ตาม
เรียบเรียงโดย
น.สพ. สุรเดช โทษาธรรม
#10yearswithivet #iVETiKnow
#โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท #iVEThospital #โรงพยาบาลสัตว์24ชั่วโมง
----------------------------
โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เปิดบริการ 24 ชม.
ตอบทุกปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง..จากสัตวแพทย์โดยตรง
Line : @ivethospital >> http://bit.ly/2UHSsXK
Hotline : 085-244-7899
Website : www.ivethospital.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้