เบาหวาน ใน เจ้าเหมียว

8301 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เบาหวาน ใน เจ้าเหมียว

โรคทางระบบทางเดินอาหาร ก็มักจะมีอาการ เช่น อาเจียน หรือท้องเสีย ที่ดูค่อนข้างน่าเป็นกังวลต่อตัวเจ้าของ หรือภาวะป่วยอื่นที่แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนส่วนใหญ่จะซึมและไม่ทานอาหาร

แต่สำหรับโรคระบบต่อมไร้ท่อ โดยมากมักไม่มีอาการที่แสดงออกว่าป่วยอย่างชัดเจนนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ภาวะเบาหวาน (Diabetes Mellitus) ที่ถือว่าเป็นโรคระบบต่อมไร้ท่อที่พบอัตราการป่วยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของแมว รองจากโรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) ในระยะเริ่มต้นของภาวะเบาหวานในแมวนั้นมักมีอาการเพียงปัสสาวะเยอะ เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำออกมา ซึ่งจะส่งผลทำให้ดื่มน้ำเยอะตามมาด้วย รวมไปถึงกินอาหารเยอะแต่น้ำหนักลด ซึ่งถ้าเจ้าของแมวไม่ได้สังเกตหรือไม่ได้พามาตรวจกับคุณหมอจนกินเวลาไปเนิ่นนานก็สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นภาวะเบาหวานเป็นพิษ (Diabetic Ketoacidosis) ได้ และมักจะมีอาการที่รุนแรงอย่างมาก เช่น อาเจียน ท้องเสีย ขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่มีความอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับภาวะเบาหวานกัน เพื่อที่จะเฝ้าระวังน้องเหมียวของเราหากมีอาการต้องสงสัยควรพามาพบคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที

ภาวะเบาหวานเป็นภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดของน้องแมวสูงอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่สามารถดึงน้ำตาลเข้าไปใช้เป็นพลังงานหรือสะสมไว้ในเซลล์ร่างกายได้ จึงทำให้ร่างกายนำโปรตีนจากกล้ามเนื้อหรือไขมันไปเป็นพลังงานแทน ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดพลังงาน ผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเพลีย หิวบ่อย กินเก่งแต่น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยฮอร์โมนที่สำคัญกับภาวะเบาหวานก็คือ อินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ โดยฮอร์โมนชนิดนี้ถูกสร้างจากตับอ่อน ถ้าฮอร์โมนนี้มีน้อยหรือไม่มีการสร้างเลย หรืออาจมีการสร้างได้แต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามปกติ (insulin resistance) ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นนั่นเอง และถ้าเมื่อเปรียบเทียบกับเบาหวานในมนุษย์แล้ว เบาหวานที่พบมากส่วนใหญ่ในแมวนั้นก็เป็นประเภทเดียวกัน คือ เกิดจากการทำงานผิดปกติของ เบต้าเซลล์ (β-cell) ในตับอ่อน และการลดความไวของตัวรับฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายทำให้การออกฤทธิ์ของอินซูลินลดน้อยลง จนทำให้พบน้ำตาลในกระแสเลือดสูงนั่นเอง

ในความเป็นจริงแล้วเมื่อหากตรวจพบน้ำตาลในกระแสเลือดที่สูงในแมว ก็ยังไม่สามารถระบุได้เลยว่าเป็นภาวะเบาหวานจริง เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเครียดง่าย ทำให้การเจาะน้ำตาลในขณะที่สัตว์อยู่ในภาวะเครียด (Stress) เมื่ออยู่ที่โรงพยาบาล ก็สามารถทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน จึงต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมเช่น ตรวจระดับน้ำตาลเมื่ออาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ระดับฟรุกโตซามีน (Fructosamine) ที่บ่งบอกถึงการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดีมากน้อยแค่ไหนในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ก่อนหน้า การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อดูว่าพบน้ำตาลในปัสสาวะหรือไม่ ตรวจระดับของค่าตับอ่อนอักเสบ (Feline Pancreatic Lipase) ระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เพื่อที่จะใช้ในการประกอบการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

โดยวิธีการรักษานั้น จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การรักษาด้วยอาหารสำหรับแมวเบาหวาน ที่มีคาร์โบไฮเดรตเหมาะสม และธัญพืชที่ช่วยชะลอการดูดซึมของกลูโคส ลดการเกิดน้ำตาลในเลือดสูง โดยที่สัตวแพทย์จะทำการคำนวณปริมาณอาหารที่จะให้น้องแมวกินในแต่ละวัน และการรักษาด้วยฮอร์โมนอินซูลิน ที่สามารถดึงน้ำตาลในกระแสเข้าไปในเซลล์เพื่อเป็นพลังงานได้ ซึ่งการใช้อินซูลินควรมีความระมัดระวังในการฉีดเป็นอย่างมาก และควรผ่านการตรวจรักษาเพื่อปรับปริมาณการฉีดยากับทางสัตวแพทย์เท่านั้น เนื่องจากถ้าฉีดเกินขนาด จะทำให้น้องแมวมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย

ซึ่งปัจจัยหรือสาเหตุโน้มนำ ที่จะทำให้แมวเป็นภาวะเบาหวานนั้นมี หลายอย่างเช่น ภาวะอ้วน โดยแมวที่มีน้ำหนักตัวมากจะมีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน มากกว่าแมว น้ำหนักตัวมาตรฐาน ถึง 4 เท่ากันเลยทีเดียว อายุ เพิ่มความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมวที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป เพศ แมวเพศผู้มีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานมากกว่า พันธุ์ของแมว เช่นแมวพันธุ์ Burmese  ที่พบว่ามีการเกิดเบาหวานมากกว่าปกติ ลักษณะการเลี้ยงดู แมวที่เลี้ยงในบ้านที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมจะพบว่ามีโอกาสการเกิดเบาหวานได้มากกว่าแมวเลี้ยงปล่อยที่มีกิจกรรมอย่างอิสระ  การใช้ยาบางชนิด เช่น การให้ สเตียรอยด์ (Steroid) เป็นเวลานาน การให้ยากลุ่ม โปรเจสโตเจน (Progestogens) เป็นต้น โดยจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เจ้าของสามารถพอจะควบคุมได้ คือ ภาวะน้ำหนักเกินและ ลักษณะการเลี้ยงดู เพราะฉะนั้นถ้าเจ้าของแมวสามารถควบคุมอาหาร ทั้งในด้านปริมาณกับคุณภาพให้เหมาะสม และสิ่งแวดล้อมให้น้องแมวมีกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่บ้าง ก็น่าจะพอช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน ของเจ้าเหมียวได้ นอกจากนี้ก็อย่าลืมพาเจ้าเหมียวมาพบสัตวแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพเป็นประจำ หากพบความผิดปกติ จะได้สามารถรับมือได้ทันท่วงที


เรียบเรียงโดย

น.สพ. กมลวรรธน์   สุระเรืองชัย





References

Behrend E, Holford A, Lathan P, et al. 2018 AAHA diabetes management guidelines for dogs and cats. J Am Anim Hosp Assoc 2018; 54: 1–21.
Sparkes AH, Cannon M, Church D, et al. ISFM consensus guidelines on the practical management of diabetes mellitus in cats. J Feline Med Surg 2015; 17: 235–250.
Rand, J. Feline diabetes mellitus. In Veterinary Clinics of North America, January 2005.
McCann TM, Simpson KE, Shaw DJ, et al. Feline diabetes mellitus in the UK: the prevalence within an insured cat population and a questionnaire-based putative risk factor analysis. J Feline Med Surg 2007; 9: 289–299.


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้