8732 จำนวนผู้เข้าชม |
คุณลุงตังค์มา แมวไทยอายุ 14 ขวบ ถูกคุณเจ้าของพามาตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเวท สาขาพระราม 9 เนื่องจากสงสัยว่ารูม่านตาสองข้างนั้นขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งเจ้าของไม่เคยเห็นลักษณะแบบนี้มาก่อน แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจเรื่องการมองเห็น อาการอื่นๆ ยังค่อนข้างปกติดี คุณหมอที่ตรวจตังค์มาในวันแรกพบว่า ตังค์มามีขนาดของรูม่านตาไม่เท่ากัน (anisocoria) และตรวจพบว่าตาข้างขวานั้นบอด (blindness) และการตอบสนองต่อแสงนั้นลดลงช้ากว่าปกติมาก ในส่วนของตาข้างซ้ายก็มีการมองเห็นและการตอบสนองลดลง ตังค์มาได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียดในวันนั้นทันที คุณหมอพบว่าตังค์มามีความดันโลหิต (blood pressure) สูงกว่าระดับปกติในระดับที่เป็นอันตรายมาก และมีเสียงลิ้นหัวใจรั่วซึ่งเป็นลักษณะที่ผิดปกติ ในส่วนของผลเลือด และค่าเคมีในเลือดเบื้องต้นนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อความปลอดภัย และเพื่อติดตามอาการใกล้ชิด ตังค์มาได้เข้าฝากรักษาต่อ และเริ่มการรักษาทันทีในค่ำวันนั้น โดยตังค์มายังจะต้องได้รับการตรวจอาการในระบบอื่นๆโดยละเอียดต่อไปอีกด้วย
จากการตรวจต่อมาในคลินิกโรคตาก็พบว่าตังค์มานั้นตาบอดทั้งสองข้างแล้วภายในระยะเวลาที่ผ่านไปไม่ถึง 10 ชม. คุณหมอพบว่าตังค์มามีจอประสาทตาล้ม (Retinal detachment) ในตาทั้งสองข้าง โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ตรวจพบ และในส่วนของคลินิกโรคหัวใจ ก็ยังพบเพิ่มเติมมากขึ้นไปอีกว่า คุณลุงตังค์มานั้นมีภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy ; HCM) อีกด้วย คุณหมอทั้งสองคลินิกแนะนำให้ตังค์มานั้นตรวจในส่วนของฮอร์โมนเพิ่มเติม เพื่อดูโรคอื่นๆ ที่อาจแฝงอยู่ เช่น ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ โดยในส่วนของการรักษา ตังค์มาจะต้องได้รับยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อควบคุมให้ระดับของความดันเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติโดยเร็วที่สุด ร่วมกับการให้ยาอื่นๆ ที่ จำเป็น และตามอาการของตังค์มาเองครับ
ภาวะความดันโลหิตสูงในแมวนั้น เกิดขึ้นได้จากโรคหลายโรคด้วยกัน ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ หรือภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ โดยมักจะพบในกลุ่มของแมวชรา หรือแมวที่มีน้ำหนักเกิน ความดันโลหิตที่สูงนั้นจะส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปยังอวัยวะต่างๆ โดยมักจะเกิดปัญหาที่อวัยวะหลักๆ ได้แก่ 1.) ดวงตา โดยทำให้จอประสาทตาล้มหรือมีเลือดออกบนจอประสาทตา ส่งผลให้ตาบอดเฉียบพลัน 2.) สมอง โดยส่งให้อาจมีอาการทางระบบประสาทต่างๆ เช่น ชัก มึนงง ไม่รู้สึกตัว อันเป็นผลที่เกิดต่อหลอดเลือดในสมอง 3.) ไต โดย ส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไต และเกิดภาวะที่โปรตีนในปัสสาวะ (proteinuria) และโน้มนำให้เกิดภาวะไตวายตามมา และ 4.) ส่งผลต่อหัวใจ โดยทำให้กล้ามเนื้อของหัวใจนั้นหนาตัวขึ้น โดยเฉพาะห้องล่างซ้าย ในส่วนของภาวะตาบอดเฉียบพลันนั้น ถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็ว และสามารถควบคุมระดับความดันให้เข้าสู่ระดับปกติได้เร็วที่สุด การมองเห็นก็อาจกลับมาได้หลังจากรับการรักษาไประยะหนึ่งครับ
หลังจากดูแลอาการใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์และผู้ช่วยพยาบาลสัตว์ และได้รับยาควบคุมความดันโลหิตสูงตามที่กำหนด ความดันโลหิตของตังค์มาเริ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติ การตอบสนองของตาทั้งสองข้างของตังค์มาเริ่มกลับมาดีขึ้น เช่นเดียวกับการมองเห็น ที่เริ่มกลับมาและเป็นสัญญาณที่ดีของการรักษา ตังค์มายังต้องอยู่ที่รพ.ไปอีกระยะหนึ่งก่อนเพื่อประเมินอาการโดยรวมให้แน่ใจว่าปลอดภัยที่สุด จึงน่าจะกลับบ้านได้ครับ ตังค์มาเป็นแมวที่โชคดีเพราะมีเจ้าของเอาใจใส่ และสังเกตอาการผิดปกติได้ทันท่วงที รีบพามาตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว ในบ้านที่มีแมวชรา แมวน้ำหนักเกิน หรือแมวที่มีโรคต่างๆ แทรกซ้อนอยู่นั้น การตรวจสุขภาพเป็นระยะสม่ำเสมอ โดยมีการตรวจวัดความดันโลหิตร่วมด้วยจึงเป็นเรื่องที่ควรคำนึงเสมอ คุณเจ้าของท่านไหน ที่มีน้องแมวอยู่ในกลุ่มที่ได้เล่าให้ฟังไป หรืออยากตรวจสุขภาพ ตรวจวัดความดันโลหิตของน้องๆ ก็อย่าลังเลที่จะพาน้องมาพบสัตวแพทย์นะครับ โรงพยาบาลสัตว์ไอเวททุกสาขา และสัตวแพทย์ทุกท่านพร้อมให้บริการและคำปรึกษาครับ
เรียบเรียงโดย นสพ.ณัฐพงศ์ ไกรว่อง คลินิกเฉพาะทางโรคตา รพส.ไอเว็ท