เมื่อรับน้องลูกหมา-แมวจรมาควรทำอะไรบ้าง??

16 Views  | 

เมื่อรับน้องลูกหมา-แมวจรมาควรทำอะไรบ้าง??

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเคสที่เจ้าของหลายท่านรับลูกสุนัข-แมวจรตัวเล็กๆ ข้างทางมา ไม่ว่าจะเป็นจากที่ทำงาน, ริมถนน หรือคนมาปล่อยทิ้งไว้ค่อนข้างเยอะขึ้น เจ้าของบางท่านมีความสงสารและเมตตาเลยอยากเลี้ยงกันมากขึ้น วันนี้ผมหมอวิน สาขาพระราม 9 (น.สพ. เจตพัฒน์ เทิดฉัตรสิริ) จะมาให้ข้อมูลพื้นฐานที่เจ้าของควรทำและการจัดการเบื้องต้นเมื่อเจ้าของรับน้องเข้าไปอยู่ด้วยที่บ้านครับ

          ลูกสุนัข-แมวจรเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เกิดจากการถูกทอดทิ้ง ไม่ว่าจะมาจากแม่ไม่เลี้ยง หรือตัวแม่เองป่วยน้ำนมไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงหรือเป็นโรคจนถึงเสียชีวิตไปแล้ว รวมถึงการทอดทิ้งที่เกิดจากตัวเจ้าของคนเก่าเองที่ไม่อยากเลี้ยงดูแล้วเลยเอามาปล่อยทิ้ง ทั้งนี้ลูกสุนัข-แมวจรต้องดำรงชีวิตด้วยตัวเอง ขาดการดูแลที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็น เชื้อแบคทีเรีย หรือ ไวรัส และถ้าหากไม่มีการเลี้ยงดูจากแม่มากก่อน ลูกสุนัข-แมวจรก็จะมีภูมิคุ้มกันจากแม่น้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ

1.      มาพบสัตวแพทย์ ให้สัตวแพทย์ตรวจประเมินสภาพร่างกาย ฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ และตรวจโรคติดเชื้อไวรัสเบื้องต้น (screening) ลูกสุนัข-แมวจรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมมาอาจจะมีโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะน้ำตาลในร่างกายต่ำกว่าปกติ, ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าปกติ, ภาวะขาดน้ำ-สารอาหาร, ภาวะที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด รวมถึงรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการ การเลี้ยงดู และวางแผนสิ่งที่ควรทำในอนาคตเช่น วัคซีน ถ่ายพยาธิเป็นต้น

2.      ประเมินตัวเอง เมื่อเราตัดสินใจที่จะเลี้ยงน้องสุนัข-แมวจรแล้ว เจ้าของจะต้องประเมินตัวเองว่าพร้อมไหม เช่น การหาซื้อ-ให้อาหารที่เหมาะสม, ที่อยู่อาศัยสำหรับน้องสะอาดเหมาะ ถูกสุขอนามัย อยู่ในจุดที่เจ้าของสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายหรือถ้าเจ้าของมีสัตว์เลี้ยงอยู่แล้วก่อนหน้า เจ้าของต้องมั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงเดิมจะไม่มาทำร้ายลูกหมา-แมวจรที่เราเพิ่งรับเลี้ยงเข้าไป

3.      การเตรียมที่อยู่อาศัย ควรเป็นที่อบอุ่น ไม่หนาวหรือมีลมโกรกมากเกินไป ไม่มีความชื้น สะอาด ถ้าเป็นลูกสุนัข-แมวจรเล็กๆ แนะนำอาจจะเป็นกล่องพลาสติกและมีการปูผ้ารองอุ่นๆนุ่มๆอีกทีนึง ก็ได้ รวมถึงอาจจะต้องมีการกกไฟทั้งนี้ไฟที่กกจะต้องไม่ร้อนเกินไปจนทำให้สัตว์เกิดภาวะไหม้ (burn) เช่น ผิวหนัง หรือมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติจนถึงเป็นไข้ตามมาได้  รวมถึงอุณหภูมิห้องที่ใช้เลี้ยงน้องเองก็ไม่ความต่ำกว่า 22 องศาเซลเซียส ส่วนการทำความสะอาดงดใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์รุนแรง เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง แพ้ รวมไปถึงบางชนิดที่สามารถเป็นสารพิษหรือก่อให้เกิดอันตรายได้จากการสูดดมหรือกิน

4.      อาหาร โดยลูกสุนัข-แมวเล็กๆ ในช่วงแรกอาจจะต้องให้เป็นนมทดแทนสำหรับลูกสุนัข-แมวโดยเฉพาะ ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยงหรือตามที่สัตวแพทย์แนะนำ แต่ถ้าหากหาไม่ได้แนะนำให้เป็นนมแพะ ไม่แนะนำให้เป็นนมวัวหรือนมผงสำหรับเด็กเพราะมีปริมาณแลกโตสที่สูงเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้  หลีกเลี่ยงการให้อาหารจำนวนมากๆต่อหนึ่งมื้อ เพราะการที่ได้อาหารที่มากเกินไปจะทำให้อาเจียน, ท้องเสียและสำลักตามมา ถ้าหากลูกสุนัข-แมวมีอายุตั้งแต่ 1 เดือน – 1 เดือนครึ่งขึ้นไปที่เจ้าของอยากลองให้เริ่มต้นอาหารเม็ด แนะนำในช่วงแรกๆ อาจจะนำอาหารเม็ดไปแช่น้ำอุ่นๆดูก่อนเพื่อป้องกันการขาดน้ำและช่วยให้น้องได้ฝึกการกินอาหารเม็ดได้ง่ายขึ้น 

5.      ติดตามน้ำหนักตัว แนะนำเจ้าของหาซื้อเครื่องชั่งน้ำหนัก เพื่อชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน เพราะในช่วง 2–3 เดือนแรก จะมีการเจริญเติบโตที่เร็วมาก น้ำหนักของน้องควรเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะถ้าหากพบว่าน้ำหนักลดลง แสดงว่าน้องอาจจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือ เบื่ออาหารเป็นต้น

6.      ให้ความสนใจ ในกรณีที่ลูกสุนัข-แมวจรเติบโตขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะเล่นเบาๆกับน้อง เช่น ของเล่น เพื่อช่วยพัฒนาความสัมพันธ์กับตัวเจ้าของเอง, พัฒนาทางด้านพฤติกรรมและการแสดงออกของน้องด้วยครับ

น.สพ. เจตพัฒน์ เทิดฉัตรสิริ

Reference: Textbook Small Animal Pediatrics (The First 12 months of Life)

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy