ภาวะลมชักในสัตว์เลี้ยง (Primary Epilepsy)

88497 Views  | 

ภาวะลมชักในสัตว์เลี้ยง (Primary Epilepsy)

ภาวะลมชัก คือ อะไร?

ภาวะลมชัก (Primary Epilepsy) ในสัตว์เลี้ยงเกิดจากความผิดปกติในการส่งสัญญาณประแสประสาทจากสมองส่วนหน้าคล้ายกับเกิดจุดไฟฟ้ารั่วในสมองส่งผลให้สัตว์ป่วยเกิดอาการชัก 

สาเหตุเกิดจากอะไร ?

สาเหตุมาจากความผิดปกติในระดับพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดการส่งสัญญาณกระแสประสาทของตัวสมองมีความผิดปกติ เนื่องจากเป็นลักษณะผิดปกติที่สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ จึงพบว่าสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาลมชักมักจะมีญาติพี่น้องในครอบครัวที่มีปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน


ใครคือกลุ่มเสี่ยง ?

ภาวะลมชักมักพบบ่อยในกลุ่มสายพันธุ์แท้หรือกลุ่มเลือดบริสุทธิ์ (Pure breed) สามารถพบได้บ่อยในสุนัขมากกว่าแมว โดยสัตว์ป่วยสามารถเริ่มแสดงอาการชักครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี  สายพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลมชัก ได้แก่ บีเกิล ปอมเมอเรเนียน เฟรนช์บูลด๊อก พุดเดิ้ล โกลเด้นรีทรีฟ เวอร์ ลาบาดอร์รีทรีฟเวอร์ เยอรมันเชฟเฟิร์ด และเซนต์เบอร์นาร์ด เป็นต้น


อย่างไหนเรียกว่าอาการชัก ?

อาการชักที่สัตว์เลี้ยงจะแสดงออกมานั้นมีตั้งแต่ชักกระตุกเพียงบางส่วน (partial seizure) เช่น หน้ากระตุก ปากกระตุก หรือขากระตุก เป็นต้น แต่สัตว์ป่วยจะยังมีสติรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมดี จนไปถึงอาการชักกระตุกเหยียดเกร็งทั้งตัว (generalized seizure) อาจพบลักษณะการแหงนคอ ขาทั้งสี่ข้างเหยียดเกร็งหรือกระตุกไปมา น้ำลายฟูมปาก รวมไปถึงอาจพบการอุจจาระและปัสสาวะเรี่ยราดโดยไม่รู้สึกตัว






จะตรวจได้อย่างไร ?

ในเบื้องต้นนั้นสัตวแพทย์จะเป็นผู้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยแยกโรคกับภาวะชักที่อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นๆก่อน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะสมองกระทบกระเทือน โรคหัวบาตร เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะของเสียในกระแสเลือดที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น 






หากเป็นกลุ่มความผิดปกติจากภาวะลมชักจริงๆ มักพบว่าผลการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด ตรวจน้ำในไขสันหลัง (CSF analysis) การฉายภาพรังสี X-ray หรือการทำ MRI (magnetic resonance image) มักให้ผลเป็นปกติ  ในขณะที่การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง  (EEG ; Electroencephalogram) อาจพบคลื่นสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติที่เป็นจุดลมชักได้


ว่าด้วยการรักษา…

การรักษาภาวะลมชักในปัจจุบันนั้นอาศัยการรักษาทางยาเป็นหลัก โดยสัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาระงับชักให้เหมาะสมกับตัวสัตว์ ซึ่งการตอบสนองต่อยาระงับชักในสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวก็จะมีความแตกต่างกันออกไป บางรายอาจให้ยาระงับชักเพียงชนิดเดียวก็สามารถหยุดยั้งอาการชักได้ ในขณะที่บางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยาระงับชักร่วมกันหลายชนิดเพื่อหยุดยั้งอาการชักที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การใช้ยาระงับชักนั้นเป็นเพียงการลดความถี่ในการชักที่จะเกิดขึ้น อาจพบการชักได้อยู่บ้างซึ่งสัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาระงับชัก โดยพิจารณาถึงความสามารถในการระงับชักของยาแต่ละชนิด ความถี่ในการชักของสัตว์ป่วย รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งนัดติดตามอาการเป็นระยะเพื่อทำการปรับขนาดยาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 





การพยากรณ์โรค

โดยส่วนใหญ่แล้วโรคลมชักในสัตว์เลี้ยงมักต้องทานยาตลอดชีวิต ทั้งนี้หากสัตว์ป่วยทานยาระงับชักแล้วไม่แสดงอาการชักเลยต่อเนื่องถึง 2 ปี สัตวแพทย์จะพิจารณาค่อยๆลดปริมาณยาระงับชักลงทีละน้อย ในภายหลัง 



เขียนและเรียบเรียงโดย

น.สพ.ตะวัน สันธนะจิตร

(สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท)

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy