คู่มือสำหรับผู้เลี้ยงแมว: การพาแมวไปพบสัตวแพทย์อย่างถูกวิธี

370 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คู่มือสำหรับผู้เลี้ยงแมว: การพาแมวไปพบสัตวแพทย์อย่างถูกวิธี

คู่มือสำหรับผู้เลี้ยงแมว : การพาแมวไปพบสัตวแพทย์ต้องทำอย่างไร 

            การพาแมวไปที่โรงพยาบาลสัตว์ถือเป็นเรื่องนึงที่จำเป็นมากสำหรับคนเลี้ยงแมวอย่างเราๆ เช่น พาไปตรวจสุขภาพหรือพาไปฉีดวัคซีนประจำปี อย่างไรก็ตามการนำแมวใส่กระเป๋าและพาไปโรงพยาบาลอาจทำให้เกิดความเครียดทั้งเจ้าของและแมวได้  บทความนี้จะมีคำแนะนำต่างๆที่จะช่วยให้ประสบการณ์ในการพาน้องแมวไปที่โรงพยาบาลสัตว์ไม่ใช่เรื่องที่ลำบากอีกต่อไป ซึ่งเราจะแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนไปพบสัตวแพทย์ รวมถึงการเลือกกระเป๋าเดินทางสำหรับแมว ข้อควรพิจารณาในการเดินทาง และเคล็ดลับในการทำให้แมวรู้สึกผ่อนคลายเมื่อกลับถึงบ้าน

ก่อนจะไปถึงขั้นตอนต่างๆ เจ้าของต้องเตรียมกระเป๋าเดินทางก่อนให้เรียบร้อย โดยมีคำแนะนำของกระเป๋าเดินทางของน้องแมวดังต่อไปนี้

·      เลือกขนาดกระเป๋าเดินทางให้เหมาะสมกับขนาดของแมว มีพื้นที่ให้แมวได้เพียงพอไม่เล็กหรือแคบเกินไป

·      กระเป๋าต้องแข็งแรง มีประตูปิดมิดชิด  มีช่องระบายให้อากาศถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่ปิดทึบ

·      ใส่สิ่งที่อบอุ่น นุ่มสบาย และมีกลิ่นที่แมวคุ้นเคยในกระเป๋าเดินทาง เช่น ผ้าห่มที่แมวเคยนอน

·      ไม่แนะนำให้ใช้กระเป๋าที่เป็นผ้าที่ไม่คงรูปเพราะยุบตัวลงมาโดนตัวแมวและทำความสะอาดยาก

·      หากใช้กระเป๋าเป้สะพายหลังของน้องแมวควรใช้ในกรณีที่เดินทางระยะสั้น เนื่องจากกระเป๋าประเภทนี้จะมีการเคลื่อนไหวหรือแกว่งขณะที่เราเดิน และมีพื้นที่แคบจึงไม่ควรใช้กับการเดินทางระยะไกล

·      จำนวนกระเป๋า 1 ใบต่อแมว 1 ตัว ถึงแม้ว่าแมวแต่ละตัวจะเข้ากันได้ดีแต่ก็ควรแยกกัน ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า แมวที่ได้รับความเครียดที่เพิ่มขึ้น อาจมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากเดิมได้

·      เมื่อยกกระเป๋าเดินทาง อย่าถือแค่ที่จับด้านบนเพียงอย่างเดียว เพราะอาจทำให้แมวรู้สึกไม่มั่นคง ควรประคองกระเป๋าด้านล่างเพื่อให้กระเป๋าอยู่ในระดับที่มั่นคงและลดการเคลื่อนไหว (ดังรูป)

 
1. เตรียมตัวก่อนวันนัด

·         ฝึกให้คุ้นเคยกับกระเป๋าเดินทาง: ฝึกแมวให้คุ้นเคยกับกระเป๋าที่จะใช้เดินทางล่วงหน้า โดยวางกระเป๋าไว้ในบ้านเปิดไว้ให้แมวเข้าไปนอนเล่น ใส่ของที่มีกลิ่นคุ้นเคยหรือผ้าห่มของแมวเพื่อทำให้รู้สึกปลอดภัย หากเป็นไปได้ใส่ขนมอร่อยๆหรือของเล่นเล็กๆไว้ในกระเป๋าเดินทางด้วยเพื่อให้แมวคุ้นชินและมีประสบการณ์ที่ดีกับการเข้าออกกระเป๋าเดินทาง

·         เลือกเวลาที่เหมาะสม: นัดหมายเพื่อเข้าพบสัตวแพทย์ก่อนล่วงหน้าทุกครั้งเพื่อลดระยะเวลาที่น้องแมวต้องรอเข้าตรวจ (หากยิ่งรอนานแมวจะยิ่งเกิดความเครียด) หากเป็นไปได้เลือกนัดในช่วงเวลาที่โรงพยาบาลสัตว์คนน้อย และควรแจ้งล่วงหน้าหากแมวมีอาการเฉพาะ เช่น การกินอาหารน้อยลง หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

2. การเดินทางไปพบสัตวแพทย์

·         ทำให้แมวสงบลง: ควรพยายามทำให้แมวสงบก่อนออกเดินทาง อาจใช้สารสังเคราะห์ช่วยลดความเครียดชนิดสเปรย์ฟีโรโมน (Feliway) ฉีดพ่นในกระเป๋าก่อนเดินทาง 15 นาที และใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าห่มที่มีกลิ่นคุ้นเคยคลุมกระเป๋าระหว่างที่เดินทางเพื่อช่วยให้แมวรู้สึกปลอดภัย

·         ขับรถอย่างระมัดระวัง: หากเดินทางด้วยรถยนต์ พยายามขับรถอย่างนุ่มนวลเลี่ยงการเบรกหรือเลี้ยวอย่างกระทันหันเพื่อไม่ให้แมวตกใจ และเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเปิดประเป๋าให้แมวออกมาในขณะที่ขับรถอยู่

·         ทำให้บรรยากาศสงบ: หากแมวเครียดมากขณะอยู่บนรถให้พูดคุยกับแมวเบาๆระหว่างเดินทาง หรือเปิดเพลงที่สงบเพื่อช่วยให้แมวรู้สึกผ่อนคลาย

 
3. เมื่อถึงโรงพยาบาลสัตว์

·         ไม่นำแมวออกมานอกกระเป๋าจนกว่าสัตวแพทย์จะเรียกตรวจ: ให้แมวอยู่ในกระเป๋าเดินทางโดยมีผ้าขนหนูหรือผ้าห่มคลุมกระเป๋าเดินทางไว้ตลอด

·         การวางกระเป๋า: หาที่วางกระเป๋าที่มั่นคง ไม่ให้ขยับไปมาระหว่างการรอตรวจ และไม่แนะนำให้วางกระเป๋าไว้ที่พื้นเพราะแมวจะรู้สึกไม่ปลอดภัย ควรวางบนที่นั่ง เก้าอี้ข้างตัวเจ้าของ หรือวางไว้บนจุดวางกระเป๋าในกรณีที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งนั้นมีจุดสำหรับวางกระเป๋าแมวเพื่อรอตรวจโดยเฉพาะ

·         หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสัตว์อื่น: เพื่อลดความเครียดของแมว โรงพยาบาลสัตวแพทย์หลายแห่งและโรงพยาบาลสัตว์ที่ได้รับรองมาตรฐาน Cat Friendly Clinic จะมีมีพื้นที่รอตรวจแยกสำหรับแมวโดยเฉพาะ (Cat Only Waiting Room or Area) เพื่อแยกแมวและสุนัขออกจากกันในระหว่างนั่งรอตรวจ แต่หากไม่มีควรหาที่นั่งที่ห่างจากสุนัขหรือสัตว์อื่นๆหรือแม้กระทั่งแมวด้วยกันเอง และใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าห่มคลุมกระเป๋าเดินทางไว้ตลอดจะช่วยลดการเผชิญหน้ากับสัตว์ตัวอื่นได้

 

 

4. หลังการเข้าพบสัตวแพทย์

·         ให้เวลาปรับตัว: หลังจากกลับบ้านแมวอาจต้องการเวลาพักผ่อนในที่สงบเพื่อผ่อนคลายจากความเครียดในการไปพบสัตวแพทย์  โดยเฉพาะหลังจากการพักค้างคืนแมวของคุณอาจมีกลิ่นที่แตกต่างจากแมวตัวอื่นในบ้านไปแล้ว อาจมีผ้าพันแผล ขนถูกตัด หรือสวมปลอกคอ ซึ่งทำให้แมวดูแตกต่างออกไปจากเดิม สิ่งเหล่านี้อาจทำให้แมวที่เคยอยู่ด้วยกันอย่างสงบมาก่อน เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ขู่ ทำร้ายกันเอง หรือหลีกเลี่ยงไม่เข้าหากัน ดังนั้นควรนำแมวที่เพิ่งกลับมาบ้านกลับมาแนะนำให้รู้จักกันใหม่อย่างระมัดระวัง แมวที่กลับมาใหม่จะเริ่มมีกลิ่นที่คุ้นเคยอีกครั้งจากการเลียขนของตัวเองและการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมเดิมที่บ้าน เช่น ที่นอนหรือผ้าที่มีกลิ่นที่คุ้นเคยจากบริเวณที่แมวพัก

·         แยกจากแมวตัวอื่น: ในบางกรณีจำเป็นที่จะต้องแยกแมวที่กลับมาไว้ในห้องที่เงียบสงบเพียงตัวเดียวก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแมวเพิ่งผ่านการผ่าตัดและอาจยังรู้สึกไม่สบายตัว หรือแมวที่ป่วยหนักต้องการพักผ่อนที่สงบเงียบและไม่ต้องการการถูกรบกวนจากแมวตัวอื่น  

·         ตรวจสอบและปฏิบัติตามคำแนะนำ: ปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ในการดูแลสุขภาพแมว เช่น การให้ยา การเปลี่ยนอาหาร หรือการนัดพบครั้งต่อไป หากมีข้อสงสัยหรือไม่ชัดเจนให้โทรกลับไปสอบถามกับทางโรงพยาบาลสัตว์โดยตรง

 
ผู้เขียนบทความ: น.สพ.ธนกฤต ความสุข


Ref: ISFM Guide for cat carers ‘Taking your cat to the veterinary clinic 2022, https://catfriendlyclinic.org

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้