6 โรคร้ายอาจเกิดขึ้นได้ หากน้องหมาไม่ฉีดวัคซีน

2557 จำนวนผู้เข้าชม  | 

6 โรคร้ายอาจเกิดขึ้นได้ หากน้องหมาไม่ฉีดวัคซีน

ปัจจุบันการฉีดวัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับ น้องหมา น้องแมวอย่างมากเพราะโรคร้ายแรงบางโรคหากติดแล้วอาจรักษาได้ยาก หรือมีอัตราการเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นวันนี้มาเรามารู้จักกับ" 6 โรคร้ายอาจเกิดขึ้นได้ หากน้องหมาไม่ฉีดวัคซีน "กันค่ะ
6 โรคร้ายอาจเกิดขึ้นได้ หากน้องหมาไม่ฉีดวัคซีน
1.โรคไข้หัดสุนัข
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หัดระหว่างสุนัข จัดเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง สามารถพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ แต่สุนัขที่อายุน้อยจะมีความรุนแรงของโรคที่สูงกว่า ลักษณะอาการของโรคนี้มักจะมีไข้ ตาแฉะ มีน้ำมูก และมีอาการของระบบทางเดินอาหาร, ระบบหายใจและระบบประสาทร่วมด้วย สามารถติดเชื้อโรคนี้ผ่านทางอากาศ และการสัมผัสผ่านสารคัดหลั่ง เช่นน้ำลาย, น้ำมูก, ปัสสาวะ, อุจจาระ และ น้ำตา จากสุนัขที่มีเชื้อ
2.โรคลำไส้อักเสบในสุนัข
เกิดจากเชื้อไวรัส พาร์โวไวรัส, โคโรน่าไวรัสและ โรต่าไวรัส โรคนี้มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยสุนัขที่ติดเชื้อจะมีอาการ อาเจียน, ท้องเสีย, เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย, อุจจาระมีเลือดปนและมีกลิ่นเหม็น อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะลูกสุนัข สามารถติดโรคนี้ผ่านการกินและสัมผัสเชื้อโดยตรงจากสารคัดหลั่งเช่น น้ำลาย,ปัสสาวะ,อุจจาระ ของสุนัขที่มีเชื้อ และสิ่งปนเปื้อนจากอาหาร น้ำ และ สิ่งแวดล้อม
3.โรคตับอักเสบสุนัข
เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้ตับเสียหาย สามารถพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ และมักจะพบได้บ่อยในสุนัขที่อายุน้อยกว่า 1 ปี โดยลักษณะอาการของโรคนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในรายที่รุนแรงมาก จะมีไข้, ปวดท้องรุนแรง, อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด มักจะเสียชีวิตภายใน 24 ชม.ในสุนัขบางตัวอาจไม่แสดงอาการและเสียชีวิตได้ทันที ส่วนในรายที่รุนแรงน้อย จะมีไข้ เบื่ออาหาร ท้องแข็งตึงและอาจพบจุดเลือดตามใต้ผิวหนัง ในรายที่เป็นมากอาจป่วยและเสียชีวิตได้ทันทีเช่นเดียวกัน โดยสามารถติดโรคนี้ผ่านการกินและสัมผัสเชื้อโดยตรงจากสารคัดหลั่งเช่น น้ำลาย,ปัสสาวะ,อุจจาระ ของสุนัขที่มีเชื้อ
4.โรคหลอดลมอักเสบสุนัข
เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม ลักษณะเด่นของอาการคือ การไอ บางครั้งมีอาเจียนร่วมด้วย สุนัขจะไอติดต่อกันเป็นเวลาหลายนาที และประมาณ 7-14 วัน หากอาการไม่รุนแรงมากจะหายได้เองคล้ายกับอาการหวัดในคน โรคนี้สามารถติดต่อได้ทางอากาศ ซึ่งจะพบมากในสุนัขที่เลี้ยงรวมกันหลายตัว
5.โรคเลบโตสไปโรซีสหรือโรคไข้ฉี่หนู
เกิดจากเชื้อ leptospira เป็นโรคระหว่างสัตว์หลายชนิด และระหว่างสัตว์สู่คน อาการขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของการติดเชื้อ กล้ามเนื้อและไต เป็นอวัยวะที่เชื้อเข้าไปทำลายได้มากที่สุด ดังนั้นจึงทำให้สุนัขมีความเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย และ มีไข้, เซื่องซึม, เบื่ออาหาร และอาจมีภาวะดีซ่านร่วมด้วย หากพบว่าไตเสีย สุนัขจะมีอาการท้องเสีย, อาเจียน และ มีแผลหลุมในปาก ซึ่งต่อมาสุนัขจะขาดน้ำและเสียชีวิตได้ในที่สุด
ุ6.โรคพิษสุนัขบ้า
เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข, แมว, ลิง, หนู, กระต่าย ไปจนถึงสัตว์ใหญ่ หากติดเชื้อโรคนี้มีโอกาสเสียชีวิต100% ลักษณะมี 2 อาการ คือ อาการดุร้าย และ อาการเซื่องซึม อาการดุร้าย สัตว์จะมีพฤติกรรมเปลี่ยน มีความดุร้าย เกรี้ยวกราด มีอาการทางระบบประสาท ไม่รับรู้ จำเจ้าของไม่ได้ ไม่กินน้ำ ไม่กินอาหาร สามารถติดเชื้อนี้จากการกัดกัน และเสียชีวิตภายใน 7 -10 วัน ส่วนอาการเซื่องซึม สัตว์จะไม่แสดงอาการดุร้าย แต่อาจสังเกตุได้ยาก เพราะจะมีอาการเหมือนสัตว์ป่วยทั่วไป เช่น อาการซึม, เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดลง
ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สุนัขอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความรุนแรงของโรคดังกล่าว และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค จากการโดนกัด การกินหรือการสัมผัสผ่านสารคัดหลั่งจากสุนัขที่มีเชื้อ หรือแม้กระทั่งอาจมาจากตัวเจ้าของเองที่ออกไปสัมผัสเชื้อโรคภายนอกบ้านและอาจเป็นพาหะในการนำเชื้อโรคเข้ามาติดสุนัขภายในบ้านโดยไม่ตั้งใจนั่นเอง เพื่อสัตว์เลี้ยงที่เรารัก ถ้าอยากให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ การใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามนะคะ
อ้างอิงโดย : https://vet.kku.ac.th
#โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท #iVEThospital #โรงพยาบาลสัตว์24ชั่วโมง
----------------------------
โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เปิดบริการ 24 ชม.
ตอบทุกปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง..จากสัตวแพทย์โดยตรง
Line : @ivethospital >> http://bit.ly/2UHSsXK
Hotline : 085-244-7899
Website : www.ivethospital.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้