35706 จำนวนผู้เข้าชม |
บทความจาก..หมอไอเว็ท
ปัญหาการขับถ่ายไม่เป็นที่ในน้องแมว
เจ้าของน้องแมวหลายๆ ท่านคงเคยประสบปัญหาหรือกำลังประสบกับปัญหาที่เจ้านายแมว ของเรามีพฤติกรรมขับถ่ายไม่เป็นที่อยู่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเป็นปัญหาเรื้อรังแก้ไขไม่หาย วันนี้หมอจะมาเล่าถึงสาเหตุและวิธีการลดพฤติกรรมดังกล่าวให้ได้ฟังกัน
สำหรับปัญหาการขับถ่ายไม่เป็นที่นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า House soiling สิ่งที่เจ้าของจะพบก็คือแมวมีการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ หรือปัสสาวะในที่ไหนก็ตาม ที่ไม่ใช่กระบะทรายที่เราเตรียมไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นพรมหน้าห้องน้ำ บนที่นอน หรือแม้กระทั้งบนกระถางต้นไม้ โดยปัญหาการขับถ่ายไม่เป็นที่นั้นต้องแยกออกจากพฤติกรรมการแสดงอาณาเขต เช่นการฉี่สเปรย์ในแมวเพศผู้ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติ
โดยปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดปัญหาการขับถ่าย ไม่เป็นที่นั้นประกอบไปด้วย
โรคในทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือแม้แต่โรคนิ่ว เมื่อน้องแมวป่วยเป็นโรคเหล่านี้จะทำให้มีอาการเจ็บเวลาขับถ่ายทำให้มีการจำฝังใจว่าการไปขับถ่ายบริเวณกระบะจะทำให้เกิดอาการเจ็บ จึงเกิดอาการหลีกเลี่ยงไปขับถ่ายที่อื่นแทน
ความสะอาดของกระบะทราย ถ้าหากกระบะทรายไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ มีกลิ่นเหม็น มีอุจจาระหรือปัสสาวะค้างอยู่ สามารถทำให้แมวเลือกที่จะไม่ขับถ่ายในกระบะทรายได้
กระบะทราย ทั้งจำนวนกระบะทรายไม่เพียงพอ รูปแบบกระบะทราย ตำแหน่งการวางกระบะทรายไม่เหมาะสม สามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้แมวไปขับถ่ายนอกกระบะได้ทั้งหมด แมวบางตัวอาจไม่ชอบกระบะที่มีหลังคาปิด หรือไม่ชอบตำแหน่งที่วางที่อาจอยู่ในบริเวณที่มีคนพลุกพล่านหรือมีเสียงดัง
ทรายแมว สำหรับเจ้าของบางคนอาจชอบทรายแมวที่มีกลิ่นหอมต่างๆแต่สำหรับแมวบางตัวนั้น การที่ทรายแมวมีกลิ่นอาจทำให้แมวเลือกที่จะไม่ขับถ่ายบนทรายได้ หรือแม้กระทั่งการใส่ทรายแมวน้อยเกินไปก็ทำให้แมวไม่อยากไปขับถ่ายในกระบะได้ เนื่องจากแมวไม่สามารถแสดงพฤติกรรมการขุดก่อนขับถ่ายได้
ความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการมีสมาชิกเข้ามาใหม่ในบ้าน ทั้งคน แมว สุนัข หรือจำนวนแมวที่มาก อาจทำให้มีบางตัวมีพฤติกรรมเฝ้ากระบะแล้วทำให้น้องแมวไม่สามารถขับถ่ายที่กระบะได้
สำหรับการแก้ไขปัญหาการขับถ่ายไม่เป็นที่ในแมว นั้นทำได้โดยการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1. ตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ เพื่อทำให้มั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคในทางเดินปัสสาวะ
2. ทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำ ควรเก็บของเสียออกจากกระบะทรายวันละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง
3. เปลี่ยนทรายใหม่ทั้งหมดทุกๆ 1-2 สัปดาห์ และเมื่อใช้กระบะทรายไปนานๆ โดยเฉพาะกระบะทรายพลาสติก อาจทำให้มีกลิ่นของเสียติดกับพลาสติกซึ่งไม่สามารถล้างออกได้ หากเป็นแบบนี้ควรพิจารณาเปลี่ยนกระบะใหม่ ไม่ควรเปลี่ยนกลิ่นทรายแมวไปมา หากพบว่าทรายแมวรูปแบบไหน หรือกลิ่นไหนที่เจ้านายชอบ ก็ควรเลือกเป็นแบบเดิมจะดีที่สุด โดยส่วนมากแมวมักจะชอบทรายที่ไม่มีกลิ่น ปริมาณทรายในกระบะทรายควรมีความลึกที่เหมาะ คือไม่น้อยกว่า 3 cm
4. หากแมวมีบริเวณที่มักจะไปขับถ่ายประจำ ให้ทำการย้ายกระบะทรายไปบริเวณนั้น หรือหากไม่ต้องการให้แมวไปขับถ่ายบริเวณใดอาจใช้ แผ่นฟรอยอลุมิเนียมหรือเทปกาว 2 หน้าไปวางไว้บนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้แมวเข้าไปขับถ่ายในบริเวณนั้นอีก
5. ทำความสะอาดบริเวณที่แมวไปขับถ่ายให้สะอาด อาจใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นขับถ่ายสำหรับแมวโดยเฉพาะในการทำความสะอาด เพื่อไม่ให้หลงเหลือกลิ่น แมวจะได้ไม่กลับมาขับถ่ายตรงนั้นอีก
6. เลือกใช้กระบะทรายที่แมวชอบ อาจต้องซื้อกระบะทรายมาหลายๆ แบบแล้ววางไว้ให้แมวเลือก รวมทั้งรูปแบบของทรายแมวด้วย โดยแมวส่วนใหญ่มักจะชอบกระบะที่มีขนาดใหญ่ กว้างพอให้เข้าไปได้ทั้งตัวและไม่มีหลังคา
7. บริเวณที่ตั้งของกระบะทรายควรเป็นบริเวณที่เงียบสงบ และเข้าถึงง่าย และต้องมีจำนวนกระบะทรายอย่างน้อย เท่ากับจำนวนแมว เพื่อลดปัญหาการแย่งกันเข้ากระบะ
8. การใช้ผลิตภัณฑ์ ฟีโรโมนแมวอาจมีส่วนช่วยในการลดความเครียดได้ ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาการขับถ่ายไม่เป็นที่ได้บ้าง
9. การใช้ยาในการปรับพฤติกรรมการขับถ่าย มักไม่ได้ผล เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาในทางพฤติกรรมซึ่งยาไม่ได้มีส่วนช่วยในเรื่องนี้
จะเห็นได้ว่าปัญหาการขับถ่าย ไม่เป็นที่นี้มีอะไรมากกว่าที่เราคิด และมีรายละเอียดยิบย่อยค่อนข้างเยอะ หากสามารถปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เป็นอย่างที่แมวชอบได้ เราก็จะแก้ไขปัญหาการขับถ่ายไม่เป็นที่ได้
เรียบเรียงโดย
น.สพ. ณัฐวัชร รุจิรดำรงชัย
#10yearswithivet #iVETiKnow
#โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท #iVEThospital #โรงพยาบาลสัตว์24ชั่วโมง
----------------------------
โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เปิดบริการ 24 ชม.
ตอบทุกปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง..จากสัตวแพทย์โดยตรง
Line : @ivethospital >> http://bit.ly/2UHSsXK
Hotline : 085-244-7899
Website : www.ivethospital.com